วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

เพลงศึกของซูลู - Zulu War Chants

อินกอนยามา-เขาคือสิงโต!

          ในหนังสือการลูกเสือสำหรับเด็กชาย’ เบเดน-เพาเวลล์แนะนำลูกเสือให้รู้จักกับเพลงศึกของซูลู ซึ่งท่านเรียกมันว่า เพลงประสานเสียงอินกอนยามา

อินกอนยามาเป็นเพลงศึกหนึ่งในเพลงศึกโบราณหลายๆบทที่นักรบซูลูใช้ขับร้องก่อนทำศึกสงคราม เบเดน-เพาเวลล์ได้ยินเพลงศึกนี้ครั้งแรกในซูลูแลนด์(ปัจจุบันคือจังหวัดควาซูลู-นาทาลในแอฟริกาใต้)

ในปี 1888 ร้อยเอก เบเดน-เพาเวลล์ เป็นส่วนหนึ่งของขบวนทหารที่ออกตามล่า ดินิซูลูหัวหน้าเผ่าซูลู ซึ่งเป็นผู้นำชนเผ่าอูซูตูในการต่อต้านการล่าอาณานิคมของบริติช ขบวนทหารนี้มีหัวหน้าเผ่าซูลูผิวขาวชื่อ จอห์น ดันน์ เข้าร่วมด้วย จอห์น ดันน์นำกำลังนักรบซูลู2000คนเข้าร่วมกับกองทัพบริติช บี-พี อธิบายถึงนักรบเหล่านี้ว่า

 พวกเขามีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และใบหน้าที่สง่างาม รื่นเริง..ผิวสีน้ำตาลถูกชโลมด้วยน้ำมัน จนดูราว อนุสาวรีย์ที่สร้างด้วยทองแดง

       ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังมาจากที่ไกลๆ ในตอนแรกก็คิดว่าเป็นเสียงออแกนบรรเลงอยู่ในโบสถ์ แว่บหนึ่งก็คิดว่าเรากำลังเข้าใกล้สถานีภารกิจซึ่งตั้งอยู่เหนือยอดเนิน แต่เมื่อเราขึ้นไปถึงยอดเนิน เรากลับได้เห็นแถวมนุษย์เป็นแถวตอนลึกยาวเหยียดสามแถว เคลื่อนที่จากหุบเขาข้างล่างมุ่งหน้าขึ้นมาหาเรา  ขณะที่เดินนั้นพวกเขาก็พากันร้องเพลงด้วยท่วงทำนองน่าอัศจรรย์ ทุกขณะจะมีชายผู้หนึ่งเป็นต้นเสียงร้องนำด้วยท่วงทำนองสองสามตัวโน้ต แล้วตามมาด้วยเสียงก้องกระหึ่มจากนักรบทั้งหมด ขานรับเป็นลูกคู่ ด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำลึก สลับกับเสียงสูงสอดประสานเป็นเสียงเดียว

          เมื่อก่อตั้งกิจการลูกเสือขึ้นแล้ว  บี-พี ได้นำเอาเพลงศึก  อินกอนยามาและการเต้นระบำของพวกไคคูยู(Kikuyu) ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อยู่แถบภาคใต้ของเคนยา มาผสมผสานออกแบบเป็นท่าทางการเต้นระบำของลูกเสืออีกด้วย
  
 เนื้อร้องและทำนองที่ บี-พี เขียนไว้มีดังนี้


ผู้นำ : อีนกอนยามา-กอนยามา!    
ลูกคู่ : อินวูบู ! ยาโบ! ยาโบ! อินวูบู!
คำแปลของบทเพลงก็คือ`เขาคือสิงโต! ใช่แล้ว! เขาดีกว่านั้น! เขาคือช้างน้ำ!' 
    

ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขียนไว้แปลได้ความอย่างนั้น ผมอ่านแล้วมีข้อสงสัยบางอย่างก็เลยลองค้นหา ดิกชันนารีภาษาซูลู จากคอมพิวเตอร์เน็ตเวอร์กดู ก็พบว่าบี-พี จดเนื้อร้องมาผิดไปนิดหน่อยครับ เพราะท่อนที่ บี-พี เขียนว่า  “In-voo-boo” นั้น ไม่พบคำแปลในภาษาซูลู แต่มีคำอื่นในภาษาซูลู ที่ออกเสียงว่า อัมวูบู หรือ อิมิวูบู (umvubu / imivubu) แปลว่า ช้างน้ำครับ

อ้างอิง :  http://isizulu.net/

ส่วนคำแปลนั้นหากแปลกันตรงตัวจากภาษาซูลู เนื้อเพลงก็ต้องแปลว่า
                 ผู้นำ : ‘สิงโต! สิงโต!                                          
                   ลูกคู่ : ช้างน้ำคือเขา! เขาคือช้างน้ำ!
         
          บี-พี สรุปโดยกล่าวว่า บทสวดอินกอนยามาจะต้องร้องอย่างมีชีวิตชีวาไม่ใช่ร้องพึมพำชวนเศร้าเหมือนบทสวดในพิธีศพ วิธีที่ดีที่สุดในแบบฉบับของซูลูก็คือ คนที่เป็นผู้นำจะแผดเสียงเนื้อร้องท่อนแรกนำด้วยเสียงอันดัง แล้วคนอื่นๆจะตะโกนตอบโต้ด้วยเสียงทุ้มต่ำ

                    อยากรู้ว่าเพลงศึกซูลูเป็นอย่างไร เข้าไปดูที่นี่ครับ บางตอนจากภาพยนตร์เรื่อง ซูลู


แต่ถ้าอยากรู้ว่าพวกไคคูยูเขาเต้นระบำกันยังไง ก็เข้าไปดู "Kikuyu Warriors Dance at Mt. Kenya Safari Club" ที่นี่ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=U3sceumdSAs

ดูแล้วหงอยๆพิลึก เหมือนแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งทางภาคเหนือที่เอาชนเผ่าต่างๆมาแสดงให้นักท่องเที่ยวดู มันไม่ใช่วิถีชีวิตครับ แต่กลายเป็นเอามรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษมาขายกิน ที่ไหนในโลกก็คงแบบเดียวกัน ไม่ว่าเคนยาหรือไทยแลนด์ก็ตาม

ไม่ต่างกันเท่าไหร่หรอกครับ