วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

 ลูกเสือไทยกับลูกเสืออังกฤษกำเนิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน

ถูกต้องครับ ลูกเสือไทยกับลูกเสืออังกฤษกำเนิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
ลูกเสืออังกฤษเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพสังคมอังกฤษ โดยเริ่มแก้ไขกันที่เยาวชนของชาติ ด้วยวิธีการแบบลูกเสือ


ส่วนลูกเสือไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือขึ้นเพื่อสนับสนุนความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนับสนุนกำลังกึ่งทหารอย่าง “เสือป่า”
ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการกำเนิดกิจการลูกเสือจึงต่างกัน


เมื่อวัตถุประสงค์ต่างกัน วิธีการเพื่อให้ไปถึงวัตถุประสงค์นั้นจึงต่างกันไปด้วย
ลูกเสืออังกฤษ เน้นให้เด็กทำงานร่วมกันเป็นหมู่เล็กๆ ฝึกให้เด็กตกลงใจร่วมกันในการประชุมลูกเสือในหมู่เดียวกัน และประชุมนายหมู่ร่วมกับหมู่ลูกเสืออื่นๆ เพื่อวางแผนและแก้ไขปัญหาต่างๆร่วมกัน ระบบลูกเสืออังกฤษฝึกให้เด็กกล้าแสดงออก กล้าออกความคิดเห็น ขณะเดียวกันต้องยอมรับฟังความเห็นต่างของผู้อื่น


กระบวนการเหล่านี้ปลูกฝังให้เยาวชนเคารพกฎกติกาแบบประชาธิปไตย สมทบด้วยระบบเกียรติศักดิ์ตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ ซึ่งลูกเสือต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดทั้งสิบข้อ ทำให้ผลผลิตคือเยาวชนของอังกฤษกลายเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ มีเกียรติ ได้รับการยอมรับจากสังคม และแน่นอนเมื่อเวลาผ่านไปเยาวชนเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ สังคมก็จะมีผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพตามไปด้วย
ในขณะที่ประเทศไทยมีสถานการณ์ต่างกันออกไป เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ระหว่างประเทศสยามกับฝรั่งเศส อันเกือบทำให้ประเทศสยามต้องสูญเสียเอกราชนั้น ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระชนม์ ๑๒ พรรษา ได้ทรงรับทราบสถานการณ์บ้านเมือง และความทุกข์โทมนัสของพระราชบิดาอย่างแน่นอน

ต่อมาอีกไม่กี่เดือนเมื่อพระชนม์ยังไม่เต็ม ๑๓ พรรษา สมเด็จพระราชบิดาก็ทรงส่งให้ไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ


ด้วยกุศโลบายรุกทางการเมืองนี้เองทำให้พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช หลายพระองค์แยกย้ายไปศึกษาและสนิทสนมคุ้นเคยกับพระราชวงศ์สำคัญต่างๆเกือบทุกประเทศในยุโรป นอกจากนี้เกือบทุกพระองค์รวมทั้งล้นเกล้าฯรัชกาลที่๖ เข้าศึกษาวิชาการทหารในยุโรปและวิทยาการสำคัญอื่นๆอีกหลากหลาย เพื่อ “ให้รู้เท่าทันเขา” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓


เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯในฐานะที่ทรงเคยศึกษาและปฏิบัติหน้าที่นายทหารแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ ย่อมทรงเข้าพระทัยดีว่าภัยคุกคามด้านกำลังทหารย่อมหนีไม่พ้นรูปแบบเดิมเมื่อ ร.ศ.๑๑๒ ซึ่งกองเรือปืนของฝรั่งเศสแล่นฝ่าแนวต้านทานเข้ามาจนถึงใจกลางพระนครอย่างแน่นอน และสยามก็คงไม่มีศักยภาพที่จะรบตามแบบต่อสู้กับชาติตะวันตกได้


สิ่งที่พระองค์น่าจะทรงดำริก็คือการรบนอกแบบ โดยใช้กำลังกึ่งทหารที่เรียกว่า “เสือป่า” ที่ทรงฝึกหัดขึ้นเพื่อทำสงครามกองโจรหากต้องร่นถอยออกไปทางนครปฐม บ้านโป่ง ราชบุรี ดังที่มีการซ้อมรบในพื้นที่ดังกล่าวอยู่หลายครั้ง และใช้กำลังเยาวชนที่ฝึกขึ้นเป็น “ลูกเสือ” เข้าช่วยเหลือสนับสนุนการรบ เช่นที่ บี.พี. เคยใช้ยุวชนทหารทำสำเร็จมาแล้วที่มาเฟคิง


การฝึกอบรมลูกเสือจึงเป็นการปลูกฝังความรักชาติ กล้าหาญ ซื่อสัตย์ และ จงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยิ่งกว่าการบำเพ็ญประโยชน์ เน้นที่การเชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่ง ยิ่งกว่าการแสดงความคิดเห็น การแสดงเหตุผล
เราจึงพบว่า แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ กองทัพก็ยังถือว่าการลูกเสือ คือเครื่องมือของกองทัพในด้านกำลังสำรอง การฝึกอบรมลูกเสือจึงกลายเป็นการส่งลูกเสือเข้าค่ายฝึกของทหาร เพื่อฝึกลูกเสือให้มีทักษะทางทหาร ยิ่งกว่าการอยู่ค่ายพักแรมในแบบฉบับของลูกเสือจริงๆ
การส่งเสริมให้เด็กมี 'จิตวิญญาณลูกเสือ-Scouting Spirit' กลายเป็นเรื่องรองไปเสียแล้ว

วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

 "เราจะทำอย่างไรกันดี" ในช่วงที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหลักสูตรลูกเสือเริ่มหนาหู ตั้งแต่ระดับเด็กๆจนถึงท่านผู้ทรงเกียรติในสภาที่เสนอให้เอาลูกเสือออกจากหลักสูตร ผมว่าเราเองก็น่าจะต้องกลับมา ทบทวนตัวเองด้วยเหมือนกัน บางประเด็นที่มีผู้กล่าวถึงกิจการลูกเสือในแง่ร้าย อาจฟังได้ว่าผู้พูดยังไม่เข้าใจกระบวนการลูกเสือดีพอ แต่บางประเด็นเราก็น่าจะต้องพิจารณาว่าเป็นจริงอย่างที่กล่าวหาหรือไม่? อะไรเป็นเหตุให้เขากล่าวเช่นนั่น? หลายวันก่อนผมเปิดประเด็นเรื่องนี้เอาไว้ในเพจลูกเสือต่างๆ ได้รับข้อคิดเห็นดีๆจากพี่น้องหลายท่านที่ต้องการให้ลูกเสือไทยก้าวไปสู่วิถึทางแบบลูกเสืออย่างแท้จริง ปัญหาต่างๆหมักหมมกันมานานครับ ว่ากันไปแล้วก็กลายเป็นงูกินหาง ทำไปทำมาก็เลยไม่รู้จะเริ่มแก้ปัญหากันตรงไหน ผมคงไม่พูดถึงปัญหาในที่นี้ละครับ เรื่องมันยาว ไว้ค่อยๆหยิบยกทีละเรื่องมาเปิดประเด็นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันดีกว่า เราแสดงความคิดเห็นด้วยความจริงใจแบบลูกเสือ มองกันในแง่สร้างสรรค์ แม้จะไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะผลักดันอะไรได้แต่ก็น่าจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นบ้างนะครับชี้ไปตรงไหนก็มีปัญหา แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี?อย่าเพิ่งไปมองเรื่องใหญ่ๆเลยครับ บางทีมันก็ใหญ่เกินกำลังของเรา บางทีกว่าจะผลักดันได้ก็ใช้เวลากันอีกนานพี่น้องลองเริ่มกันอย่างนี้ก่อนดีไหมครับ เริ่มจากกองลูกเสือของเรานี่แหละ ลองคิดว่าลูกเสือตามหลักสูตร ก็เหมือนเด็กเรียนพลศึกษาในคาบเรียนปกติ รู้กติกาพอดูกีฬาเป็น เล่นกีฬาพอได้บ้างงูๆปลาๆ แต่มีเด็กอีกพวกที่ชอบกีฬา พวกนี้เป็นนักกีฬาโรงเรียน เลิกเรียนต่องซ้อมกีฬา เก็บตัวแข่งขันเอาจริงเอาจัง เหมือนลูกเสือแหละครับ ตามหลักสูตรก็ว่ากันไปเท่าที่ทำได้ แต่เด็กที่สนใจลูกเสือจริงๆ พวกนี้ก็เหมือนทีมโรงเรียนครับ เราสามารถนำกระบวนการลูกเสืออย่างแท้จริงมาฝึกอบรมได้เต็มที่ ส่วนจะทำอย่างไรจึงจะเป็นไปตามกระบวนการลูกเสือที่แท้จริงนั้น วันหน้าเรามาคุยกันต่อเพื่อขยายผลครับวันนี้เริ่มต้นจากตรงนี้ดีไหมครับหลายท่านคงได้อ่านหนังสือ'การลูกเสือสำหรับเด็กชาย' มาแล้ว หากยัง ผมแนะนำให้ไปหาอ่านครับ เล่มละ๒๒๐บาท นี่คือหัวใจของการลูกเสือที่ผู้รักกืจการลูกเสือต้องอ่านนอกจากอ่านเองแล้ว ให้เด็กในกองลูกเสือของท่านทุกคนได้มีโอกาสอ่านด้วย ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าทุกคนวิธีการคงแล้วแต่ท่านจะบริหารครับ อาจจัดหาไว้ประจำหมู่ หมู่ละเล่มผลัดกันอ่าน หรือ หาไว้ในห้องสมุด หรือ ถ่ายเอกสาร ฯลฯเริ่มจากตรงนี้ จากจุดเล็กๆ แต่จะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างลูกเสือที่เป็นลูกเสือจริงๆ ลูกเสือที่มี 'Scouting Spirit' และจะยั่งยืนตลอดไปเริ่มหยดน้ำดีลงไปเป็นหยดเล็กๆครับ ไม่ช้าจะเห็นผลเชื่อผมเถอะ ผมกับลูกหมู่ของผมอ่านกันมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว






วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

 "คอนวอย"

คำว่า คอนวอย (Convoy) หมายถึง ขบวนยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นรถหรือเรือ หรืออาจใช้กับยานพาหนะที่ทำหน้าที่คุ้มกันขบวนเดินทางก็ได้ ถ้าเป็นกริยาอาจหมายถึง คุ้มกันการเดินทาง แต่ส่วนใหญ่เมื่อใช้คำว่า ‘คอนวอย’ก็จะทำให้นึกถึงภาพขบวนยานพาหนะ วิ่งกันมาเป็นแถว


เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อเรื่อง ‘CONVOY’ สร้างโดย แซม เพคกินพาห์ ผู้กำกับหนังบู๊จอมโหด มี คริส คริสทอฟเฟอร์สัน นักร้องเพลงคันทรี่ แสดงนำคู่กับ อาลี แมคกรอว์ นางเอกเรื่อง ‘Love Story’ อันโด่งดังสมัยโน้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับขบวนรถบรรทุกสมกับชื่อเรื่อง ภาพของพระเอกนางเอกหนังเรื่องนี้ติดอยู่ที่บังโคลนสิบล้อบ้านเราอยู่พักใหญ่ๆ


การทำหน้าที่คุ้มกัน หรือเดินทางเป็นเพื่อนนี้ เมื่อเป็นเรื่องของบุคคล มักจะใช้คำว่า เอสคอร์ท(Escort) ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า (Bodyguard) ครับ
มีบางช่วงเวลาของชีวิตที่ความจำเป็นในหน้าที่การงานทำให้ห่างเหินวงการลูกเสือไป เมื่อหวนกลับมาอีกครั้งก็พบว่ามีอะไรเปลี่ยนไปจากที่เคยรู้หลายอย่าง
เรื่องคำว่า ‘คอนวอย’ นี่ก็คำหนึ่งละครับ
เมื่อตอนได้ยินครั้งแรก มีผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งถามว่า
“ใครจะเป็นคอนวอยให้ประธานแคมป์ไฟ”
ผมงงครับ แต่ตอนนี้รู้ประสาแล้ว คอนวอยก็คอนวอยครับ
ผมแค่มาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น


ขอบคุณภาพจากงานโสตทัศนศึกษาโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม (ภาพไม่เกี่ยวกับเนื้อหาแต่อย่างใด)

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เริ่มมีลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่

 

      ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ โดยในปีนั้นลูกเสือออกจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ผู้ที่จะเข้ามาเป็นลูกเสือต้องเป็นด้วยความสมัครใจ และคณะลูกเสือแห่งชาติกำลังนำหลักสูตรลูกเสือแผนใหม่จากอังกฤษมาทดลองใช้

         เมษายน ๒๕๐๖ เปิดอบรมลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่เป็นรุ่นแรกที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ โดยมีกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่เป็นกองนำร่อง ๘ กอง จากโรงเรียนรัฐบาล ๔ กอง และ โรงเรียนราษฎร์(สมัยนั้นเรียกอย่างนี้) ๔ กอง ได้แก่

           โรงเรียนรัฐบาล

         ๑.โรงเรียนวัดราชาธิวาส

         ๒.โรงเรียนวัดมกุฎกษัตริย์

         ๓.โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

         ๔.โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร

            โรงเรียนราษฎร์

         ๑.โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง(ชื่อสมัยนั้น)

         ๒.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน

         ๓.โรงเรียนอำนวยศิลป์

         ๔.โรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี

        ลูกเสือไทยเริ่มรู้จัก ระบบหมู่ มีชื่อหมู่ ธงหมู่ การเปิดประชุมกอง การประชุมนายหมู่ ฯลฯใน พ.ศ.นั้น องค์กรสำคัญในการพัฒนาวิชาการลูกเสือขณะนั้นคือ สโมสรลูกเสือกรุงเทพฯซึ่งมี คุณครูเพทาย อมาตยกุล เป็นนายกสโมสร มีที่ตั้งอยู่ที่โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง ได้เปิดการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆของลูกเสือ ซึ่งรวมถึงหลักสูตรวิชาพิเศษด้วย

       พ.ศ.๒๕๐๗ คณาจารย์ลูกเสือขณะนั้นเพิ่งผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร Wood Badge สามัญรุ่นใหญ่รุ่นแรกกันมาใหม่ๆจึงเข้มแข็งกระตือรือร้นกันมากและเมื่อสโมสรลูกเสือกรุงเทพฯเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรลูกเสือ ก็จะมีบุคลากรจากโรงเรียนต่างๆมาเป็นกำลังสำคัญหลายท่าน เช่น อาจารย์สุรัฐ เพศยนาวิน , อาจารย์บัญญัติ ไม่อ่อนมือ จากโรงเรียนสันติราษฎร์ฯ อาจารย์สมชาย เมธานาวิน จากโรงเรียนไตรรัตน์ศึกษา อาจารย์สมชาย ญาณประสาท จากโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ฯลฯ

      พ.ศ.๒๕๐๗ เปิดอบรมลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่รุ่นที่ ๒ ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธเช่นกัน คราวนี้มีกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ใหม่ๆเพิ่มขึ้นรวมเป็น ๑๖ โรงเรียน อาทิเช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนวัดสังเวช โรงเรียนนันทนศึกษา เป็นต้น

      หลังจากนั้นในปีต่อมาไม่มีการฝึกอบรมอีก แต่มีการตั้งกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ในโรงเรียนต่างๆเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ จนกระทั่งเมื่อมีข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติฯ พ.ศ.๒๕๐๙ จึงมีการจดทะเบียนกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ขึ้น โดยมีโรงเรียนเทพศิรินทร์จดทะเบียนเป็นชื่อแรก.


พ.ศ.๒๕๐๗ : การอบรมลูกเสือบรรเทาสาธารณภัย(ลูกเสือดับเพลิง)ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิษฐ์ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่รุ่นแรกของประเทศไทยจากหลายโรงเรียนอยู่ในภาพนี้ ขอบคุณเจ้าของภาพ ล.ญ.เดชา ลาภเอกอุดม (ยืนขวาสุด) จากกองลูกเสือราชาธิวาส ต่อมาเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย


พ.ศ.๒๕๐๘ : กองลูกเสือราชาธิวาส ในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่๕ ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ 


วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

การแสดงสัญญลักษณ์ของลูกเสือไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง


การแสดงสัญญลักษณ์ของลูกเสือไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง



การชูสามนิ้วของลูกเสือนั้น คือ รหัสแสดงความเป็นพวกเดียวกันในระหว่างลูกเสือทั่วโลก มีความหมายถึงคำปฏิญาณ ๓ ข้อของลูกเสือ อันได้แก่         

     ข้อ ๑ ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
             ข้อ ๒ ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ            
             ข้อ ๓ ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ


กฎของลูกเสือมีอีก ๑๐ ข้อ ซึ่งจะเป็นกรอบกำหนดบุคลิกภาพ ความสัมพันธ์ ระหว่างลูกเสือกับสังคมและสภาพแวดล้อม

คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือนี้ใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๑(ค.ศ.๑๙๐๘) เป็นแนวทางเดียวกันทั้งโลก อาจมีความแตกต่างกันบ้างในการใช้ถ้อยคำ ความหมายและจำนวนข้อของกฎในบางประเทศ แต่ทั้งคำปฏิญาณและกฎนี้คือหลักการสำคัญที่ลูกเสือจะต้องยึดถือ และนำไปปฏิบัติ

การทำกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมีการแสดงสัญลักษณ์การชูสามนิ้วไม่ว่าจะมีที่มาจากแหล่งใดก็ตาม จึงมีผลทำให้เกิดความสับสนกับการแสดงรหัสของลูกเสือ ด้วยความแตกต่างของวัตถุประสงค์ และนัยยะสำคัญของความหมาย

 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมชูสามนิ้วอาจไม่ได้คำนึงถึงข้อนี้ แต่โปรดทราบด้วยว่าขบวนการลูกเสือนั้นกำหนดไว้ชัดเจนว่าเป็นขบวนการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง


และคุณกำลังนำการเมืองเข้ามาปะปนกับขบวนการลูกเสือ จะโดยไม่ตั้งใจ หรือ เห็นว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญก็ตาม






วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ผู้ใหญ่กับเด็ก

ผู้ใหญ่กับเด็ก

ลูกเสือสำรองแอฟริกาใต้ กำลังฝึกทักษะการผูกเงื่อนเชือก ผู้ใหญ่ในภาพ คือ Nkwenkwe Nkomo, หัวหน้าลูกเสือประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa's Chief Scout) ในปี พ.ศ.๒๕๔๓
ผมชอบสองรูปนี้ครับ ดูอบอุ่น สนุกสนาน ไม่ถือเนื้อถือตัว ผู้ใหญ่กับเด็กที่เป็นลูกเสือ ต่างก็ไม่มีอะไรมาขวางกั้น ผู้บังคับบัญชาลูกเสือควรเป็นแบบนี้ครับ มีความเป็นเด็กอยู่ในตัวเอง เสมือนเป็นพี่ชาย(หรือพี่สาว)ของน้องๆ เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้เด็กๆได้ยึดถือและเจริญรอยตาม

สิ่งที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ควรมี :-
(๑) มีจิตใจของเด็กอยู่ในตัวและต้องสามารถวางตัวได้ถูกต้อง โดยมีเด็กๆของเขาเป็นความสำคัญลำดับแรก
(๒) ตระหนักถึงความต้องการ, ทัศนะและความปรารถนาของชีวิตในวัยต่างๆกัน
(๓) สนใจปฏิบัติต่อเด็กเป็นบุคคล มากกว่าต่อเด็กทั้งกลุ่ม
(๔) ส่งเสริมสำนึกของความร่วมมือระหว่างเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อให้ได้ผลสำเร็จที่ดีที่สุด
ท่านผู้บังคับบัญชาลูกเสือครับ ถามตัวเองนะครับว่า ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆแล้วหรือไม่ ทบทวนดูนะครับว่า กฎทั้ง๑๐ข้อนั้น ท่านปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ลูกเสือ/เนตรนารีของท่านได้นำแนวทางของกฎทั้ง๑๐ข้อไปปฏิบัติจริงจังแค่ไหน หรือได้แต่ท่องจำเท่านั้น
ปัญหาในวงการลูกเสือไทยมีเยอะครับ เราคนเดียวแก้ไขไม่ไหวหรอก แต่ถ้าจะเริ่มต้นพัฒนา เริ่มจากตัวเราเองก่อน ดีไหมครับ?

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ชื่อของ บี-พี ก็กลายเป็นปัญหาไปได้


ชื่อของ บี-พี ก็กลายเป็นปัญหาไปได้

อยู่ๆก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่า ชื่อของผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลกนั้น เมื่อเขียนเป็นภาษาไทยจะเขียนอย่างไร?

เบเดน หรือ บาเดน
เพาเวลล์,โพเวลล์,โพเอล,โพเอ้น
หรือจะ'โพธิ์เอน' ไปเลยก็ดูไทยๆดี

ความที่อยากจะรู้ก็เลยเข้าไปสืบค้นที่ OXFORDLEARNERSDICTIONARIES.COM
พิมพ์คำว่า  Lord Baden-Powell

ก็ปรากฏหน้านี้ขึ้นมา

ผมลองเข้าไปคลิกที่รูปลำโพง แล้วฟังเสียงดู เสียงออกมาฟังคล้ายๆ “เบด-อึน-เพาวล หรือ โพวล”

จะให้ดีถูกต้องแน่ใจก็ต้องมีหลักฐานครับ  

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู(ก.ค.) ก็คงสงสัยเหมือนกัน เพราะต้องมีหน้าที่พิจารณาผลงานของข้าราชการครูปีละหลายๆฉบับ พบว่า มีปัญหาเรื่องการสะกดชื่อเต็มของ บี-พี เป็นภาษาไทย ที่สะกดแตกต่างกันหลายแบบ

ก.ค.จึงทำหนังสือถึง สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย(British Embassy Bangkok) เพื่อขอข้อยุติที่ถูกต้อง
                                                                                                                                                    
ทางสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ตอบกลับเมื่อ ๑๒ ต.ค.๒๕๓๘ ว่า ชื่อที่ถูกต้องเขียนว่า โรเบิร์ต สตีเฟนสัน สมิท เบเดน เพาเวลล์

ทีนี่ถ้าเขียนแบบนี้แล้วมีใครทักท้วงก็ยืนยันได้ตามหลักฐานอ้างอิงฉบับนี้




ทีแรกคิดว่าได้ข้อยุติแล้ว ตามที่สถานทูตอังกฤษชี่แจง แต่ไม่ยักจบ เพราะมีพี่น้องลูกเสืออีกท่านหนึ่งส่งหลักฐานอีกชิ้นมาให้ดูครับ

หลักฐานชิ้นนี้เป็นลายมืออาจารย์อภัย จันทวิมล ที่เขียนแนะนำการออกเสียงชื่อของ บี-พี โดยอ้างอิงจากบทกลอนที่ บี-พี เขียนแนะนำการออกเสียง ชื่อ นามสกุลของท่าน มีข้อความดังนี้

การออกเสียงชื่อ บี-พี
บี-พี ได้แต่งกลอน เขียนวิธีออกชื่อของตน ดังนี้
Man, matron, maiden,
Please call it Baden,
Further for Powell,
Rhyme it with Noel.

ดังนั้น ในภาษาไทย เราจึงควรออกเสียง เรียกชื่อท่านว่า
เบเด็น โพเอลล์
อภัย จันทวิมล




ผมเข้าไปหากลอนบทนี้ในเน็ท พบว่าในหนังสือ 'Doctrine and Reform in the British Cavalry 1880-1918' โดย Stephen Badsey มีความตอนหนึ่งว่า


"..Baden-Powell was known to friends as ‘Stephe’, pronounced 'Stevie' and himself composed the following doggerel on his surname: 'Man, matron, maiden, please say it Baden / As for the Powell, rhyme it with Noel’ (like ‘pole’ rather than the Christmas ‘Noël’)

ประเด็นอยู่ที่ความในวงเล็บตอนท้ายครับ ออกเสียง Powell แบบเดียวกับ Pole-โพล มากกว่า ‘Noël’ โนเอล ที่หมายถึงคริสต์มาส ดังนั้น ถ้าเชื่อตามนี้ ก็ต้องออกเสียงว่า 'เบเดน โพล'

สรุปความเห็นส่วนตัว ผมเลือกปฏิบัติตามที่มีเอกสารยืนยันครับ

-เขียนตามแบบที่สถานทูตอังกฤษแนะนำ
โรเบิร์ต สตีเฟนสัน เบเดน เพาเวลล์
                                                
-อ่านตามเอกสารคำแนะนำการออกเสียงชื่อ บี-พี ของอาจารย์อภัย จันทวิมล
         เบเด็น โพเอลล์










วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้


“ ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ”


      เคยเห็นข้อความนี้ไหมครับ พบปรากฏอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ตามสถาบันการศึกษา สถานที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการลูกเสือก็หลายแห่ง  แกะสลักบนแผ่นศิลาถาวรก็มี พิมพ์เป็นหนังสือก็มาก ยิ่งในสื่อดิจิตอลแล้ว เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ต่างๆ มีเยอะเชียวครับ

         ผมเองก็คงเช่นเดียวกับอีกหลายๆท่านที่เชื่อโดยสุจริตว่า ข้อความนี้เป็นพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงพระราชปณิธานแก่การลูกเสือ

          แต่ไม่ใช่ครับ ถูกแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น

      อาจารย์ วรชาติ มีชูบท บันทึกไว้ใน จดหมายเหตุวชิราวุธ, “พระราชบันทึกเรื่องการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง” มีสาระสำคัญ ดังนี้

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล


   อาจารย์วรชาติ เคยได้ยินหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรองประธานกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าให้ฟังว่า


     เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ซึ่งเป็นบิดาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ถึงอสัญกรรมลง  วันหนึ่งหม่อมหลวงปิ่นได้ไปเปิดลิ้นชักโต๊ะทำงานของท่านอดีตเสนาบดีผู้เป็นบิดา และได้พบพระราชบันทึกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงไว้ด้วยลายพระราชหัตถ์เป็นภาษาอังกฤษรวม ๔ หน้า หม่อมหลวงปิ่นจึงได้เก็บรักษาพระราชบันทึกนั้นไว้ในโต๊ะทำงานของท่านเจ้าคุณบิดาตามเดิม

            ต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาและกลับมารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ จนได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว ท่านจึงได้คัดลอกและแปลเนื้อความในพระราชบันทึกนั้นเป็นภาษาไทยมอบให้พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในเวลานั้นเพื่อเป็นแนวทางในการจัดอบรมนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยให้เป็นไปตามแนวพระบรมราโชบายที่พระราชทานไว้

    พระราชบันทึกแนวพระราชดำริทางการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงบันทึกไว้เป็นภาษาอังกฤษนั้น หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลไว้ ดังนี้

บันทึก

          ข้าส่งข้อความนี้มาเพื่อให้เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการอ่าน ข้าได้ขีดเส้นแดงใต้ข้อความบางตอน คือ ตอนที่ถูกใจข้าและตอนที่แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องที่ข้ารู้สึกตลอดมา
          ระบบการศึกษาและกฎเกณฑ์ทั้งหลาย ตลอดจนหลักสูตรแท้จริงทำให้เปลืองกระดาษไปเปล่าๆ ยิ่งกว่านั้นคือ เปลืองเวลาด้วย ถ้าไม่ทำให้ประชาชนเป็นอย่างที่เราต้องการสำหรับประเทศของเราได้เป็นผลสำเร็จ ข้าไม่หมายความว่าอะไรดีสำหรับเมืองอังกฤษจะต้องดีสำหรับเมืองไทยด้วย ตรงกันข้าม ถ้าจะเอาวิธีการของคนอังกฤษมาใช้ทั้งดุ้นโดยไม่มีการดัดแปลง ก็จะเป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์ แต่บันทึกนี้อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความคิดอะไรบ้าง
           สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียน “ชั้นมัธยม” ให้เป็นเทวดาเหมือนกันหมดทุกคน ได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนนเท่าการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง และสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่างๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆครั้งข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี และข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่า เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขเศษซ้อนไม่เป็น และไมรู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นลูกผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าไม่อยากได้ยิน “คนฉลาด” บ่นอีกว่า “ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่างๆ ลงไป ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงาม จนทำให้เด็กที่ออกไปแล้วหวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่ง สร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือ จะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม

          ที่ข้ากล่าวมานี้จะเข้ากันได้กับระบบการศึกษาของเจ้าหรือไม่ก็ตาม ถ้าเข้ากันได้ข้าก็ดีใจ แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ ก็ขอให้วิธีการของข้าได้รับการพิจารณาดำเนินการโดยยุติธรรมด้วย อย่าพยายามบังคับให้ครูของข้าทำตามข้อไขของเจ้า ให้ทำตามข้อไขของข้าเถิด เพราะกีฬาประเภทนี้ข้าคิดให้เขาเล่น และตัวข้าเองจะเป็นผู้ให้ถ้วยรางวัล


พระบรมนามาภิไธย

 ความในตอนท้ายของพระราชบันทึกดังกล่าวทรงระบุไว้ชัดว่า 

         "ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่ง สร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือ จะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม"

         ย่อมชี้ชัดว่า พระราชบันทึกนี้ทรงมุ่งหมายให้เสนาบดี และปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการได้ทราบถึงพระบรมราโชบายในการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นแทนพระอารามหลวง และมีพระราชประสงค์ที่จะใช้โรงเรียนนี้เป็นสถานที่ทดลองจัดการศึกษาตามแนวพระราชดำริที่ไม่เหมือนกับแนวทางจัดการศึกษาของกระทรวงธรรมการ 
    

        ต่อมาในระยะหลังนี้ การณ์กลับปรากฏว่า มีผู้เชื่อกันโดยสนิทใจว่า พระราชบันทึกนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้แก่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑล ทั้งยังเชื่อกันโดยสุจริตอีกว่า พระราชบันทึกนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย จนได้มีการคัดลอกลายพระราชหัตถ์นั้นเผยแพร่ต่อๆกันมา




                ยิ่งมีการคัดลอกลายพระราชหัตถ์นี้ไปประดับไว้ที่กองบังคับการค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ความเข้าใจผิดๆนี้จึงขยายความกลายเป็นว่า พระราชบันทึกนี้คือพระบรมราชปณิธานที่พระราชทานแก่คณะลูกเสือไทยไปเสียอีก.


                    สรุป
                    
        ๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชบันทึกด้วยลายพระหัตถ์เป็นภาษาอังกฤษแต่อย่างเดียว หาได้มีลายพระหัตถ์เป็นภาษาไทยไม่ ใครเป็นต้นเรื่องปลอมลายพระหัตถ์ก็ไม่ทราบ แต่ผู้ที่ได้พบเห็นต่างก็เชื่อโดยสนิทใจไปแล้ว

       ๒ พระราชปณิธานที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกไว้นี้  ทรงมุ่งหมายให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึงพระบรมราโชบายในการจัดการศึกษาของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง มิได้เป็นพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะลูกเสือแต่อย่างใด

--------------------------------------

เก็บความจาก
อ.วรชาติ  มีชูบท, จดหมายเหตุวชิราวุธ, “พระราชบันทึกเรื่องการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง”  http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal27.htm เข้าถึงเมื่อ วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๓