วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ชื่อของ บี-พี ก็กลายเป็นปัญหาไปได้


ชื่อของ บี-พี ก็กลายเป็นปัญหาไปได้

อยู่ๆก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่า ชื่อของผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลกนั้น เมื่อเขียนเป็นภาษาไทยจะเขียนอย่างไร?

เบเดน หรือ บาเดน
เพาเวลล์,โพเวลล์,โพเอล,โพเอ้น
หรือจะ'โพธิ์เอน' ไปเลยก็ดูไทยๆดี

ความที่อยากจะรู้ก็เลยเข้าไปสืบค้นที่ OXFORDLEARNERSDICTIONARIES.COM
พิมพ์คำว่า  Lord Baden-Powell

ก็ปรากฏหน้านี้ขึ้นมา

ผมลองเข้าไปคลิกที่รูปลำโพง แล้วฟังเสียงดู เสียงออกมาฟังคล้ายๆ “เบด-อึน-เพาวล หรือ โพวล”

จะให้ดีถูกต้องแน่ใจก็ต้องมีหลักฐานครับ  

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู(ก.ค.) ก็คงสงสัยเหมือนกัน เพราะต้องมีหน้าที่พิจารณาผลงานของข้าราชการครูปีละหลายๆฉบับ พบว่า มีปัญหาเรื่องการสะกดชื่อเต็มของ บี-พี เป็นภาษาไทย ที่สะกดแตกต่างกันหลายแบบ

ก.ค.จึงทำหนังสือถึง สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย(British Embassy Bangkok) เพื่อขอข้อยุติที่ถูกต้อง
                                                                                                                                                    
ทางสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ตอบกลับเมื่อ ๑๒ ต.ค.๒๕๓๘ ว่า ชื่อที่ถูกต้องเขียนว่า โรเบิร์ต สตีเฟนสัน สมิท เบเดน เพาเวลล์

ทีนี่ถ้าเขียนแบบนี้แล้วมีใครทักท้วงก็ยืนยันได้ตามหลักฐานอ้างอิงฉบับนี้




ทีแรกคิดว่าได้ข้อยุติแล้ว ตามที่สถานทูตอังกฤษชี่แจง แต่ไม่ยักจบ เพราะมีพี่น้องลูกเสืออีกท่านหนึ่งส่งหลักฐานอีกชิ้นมาให้ดูครับ

หลักฐานชิ้นนี้เป็นลายมืออาจารย์อภัย จันทวิมล ที่เขียนแนะนำการออกเสียงชื่อของ บี-พี โดยอ้างอิงจากบทกลอนที่ บี-พี เขียนแนะนำการออกเสียง ชื่อ นามสกุลของท่าน มีข้อความดังนี้

การออกเสียงชื่อ บี-พี
บี-พี ได้แต่งกลอน เขียนวิธีออกชื่อของตน ดังนี้
Man, matron, maiden,
Please call it Baden,
Further for Powell,
Rhyme it with Noel.

ดังนั้น ในภาษาไทย เราจึงควรออกเสียง เรียกชื่อท่านว่า
เบเด็น โพเอลล์
อภัย จันทวิมล




ผมเข้าไปหากลอนบทนี้ในเน็ท พบว่าในหนังสือ 'Doctrine and Reform in the British Cavalry 1880-1918' โดย Stephen Badsey มีความตอนหนึ่งว่า


"..Baden-Powell was known to friends as ‘Stephe’, pronounced 'Stevie' and himself composed the following doggerel on his surname: 'Man, matron, maiden, please say it Baden / As for the Powell, rhyme it with Noel’ (like ‘pole’ rather than the Christmas ‘Noël’)

ประเด็นอยู่ที่ความในวงเล็บตอนท้ายครับ ออกเสียง Powell แบบเดียวกับ Pole-โพล มากกว่า ‘Noël’ โนเอล ที่หมายถึงคริสต์มาส ดังนั้น ถ้าเชื่อตามนี้ ก็ต้องออกเสียงว่า 'เบเดน โพล'

สรุปความเห็นส่วนตัว ผมเลือกปฏิบัติตามที่มีเอกสารยืนยันครับ

-เขียนตามแบบที่สถานทูตอังกฤษแนะนำ
โรเบิร์ต สตีเฟนสัน เบเดน เพาเวลล์
                                                
-อ่านตามเอกสารคำแนะนำการออกเสียงชื่อ บี-พี ของอาจารย์อภัย จันทวิมล
         เบเด็น โพเอลล์










วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้


“ ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ”


      เคยเห็นข้อความนี้ไหมครับ พบปรากฏอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ตามสถาบันการศึกษา สถานที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการลูกเสือก็หลายแห่ง  แกะสลักบนแผ่นศิลาถาวรก็มี พิมพ์เป็นหนังสือก็มาก ยิ่งในสื่อดิจิตอลแล้ว เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ต่างๆ มีเยอะเชียวครับ

         ผมเองก็คงเช่นเดียวกับอีกหลายๆท่านที่เชื่อโดยสุจริตว่า ข้อความนี้เป็นพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงพระราชปณิธานแก่การลูกเสือ

          แต่ไม่ใช่ครับ ถูกแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น

      อาจารย์ วรชาติ มีชูบท บันทึกไว้ใน จดหมายเหตุวชิราวุธ, “พระราชบันทึกเรื่องการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง” มีสาระสำคัญ ดังนี้

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล


   อาจารย์วรชาติ เคยได้ยินหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรองประธานกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าให้ฟังว่า


     เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ซึ่งเป็นบิดาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ถึงอสัญกรรมลง  วันหนึ่งหม่อมหลวงปิ่นได้ไปเปิดลิ้นชักโต๊ะทำงานของท่านอดีตเสนาบดีผู้เป็นบิดา และได้พบพระราชบันทึกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงไว้ด้วยลายพระราชหัตถ์เป็นภาษาอังกฤษรวม ๔ หน้า หม่อมหลวงปิ่นจึงได้เก็บรักษาพระราชบันทึกนั้นไว้ในโต๊ะทำงานของท่านเจ้าคุณบิดาตามเดิม

            ต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาและกลับมารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ จนได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว ท่านจึงได้คัดลอกและแปลเนื้อความในพระราชบันทึกนั้นเป็นภาษาไทยมอบให้พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในเวลานั้นเพื่อเป็นแนวทางในการจัดอบรมนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยให้เป็นไปตามแนวพระบรมราโชบายที่พระราชทานไว้

    พระราชบันทึกแนวพระราชดำริทางการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงบันทึกไว้เป็นภาษาอังกฤษนั้น หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลไว้ ดังนี้

บันทึก

          ข้าส่งข้อความนี้มาเพื่อให้เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการอ่าน ข้าได้ขีดเส้นแดงใต้ข้อความบางตอน คือ ตอนที่ถูกใจข้าและตอนที่แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องที่ข้ารู้สึกตลอดมา
          ระบบการศึกษาและกฎเกณฑ์ทั้งหลาย ตลอดจนหลักสูตรแท้จริงทำให้เปลืองกระดาษไปเปล่าๆ ยิ่งกว่านั้นคือ เปลืองเวลาด้วย ถ้าไม่ทำให้ประชาชนเป็นอย่างที่เราต้องการสำหรับประเทศของเราได้เป็นผลสำเร็จ ข้าไม่หมายความว่าอะไรดีสำหรับเมืองอังกฤษจะต้องดีสำหรับเมืองไทยด้วย ตรงกันข้าม ถ้าจะเอาวิธีการของคนอังกฤษมาใช้ทั้งดุ้นโดยไม่มีการดัดแปลง ก็จะเป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์ แต่บันทึกนี้อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความคิดอะไรบ้าง
           สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียน “ชั้นมัธยม” ให้เป็นเทวดาเหมือนกันหมดทุกคน ได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนนเท่าการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง และสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่างๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆครั้งข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี และข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่า เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขเศษซ้อนไม่เป็น และไมรู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นลูกผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าไม่อยากได้ยิน “คนฉลาด” บ่นอีกว่า “ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่างๆ ลงไป ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงาม จนทำให้เด็กที่ออกไปแล้วหวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่ง สร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือ จะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม

          ที่ข้ากล่าวมานี้จะเข้ากันได้กับระบบการศึกษาของเจ้าหรือไม่ก็ตาม ถ้าเข้ากันได้ข้าก็ดีใจ แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ ก็ขอให้วิธีการของข้าได้รับการพิจารณาดำเนินการโดยยุติธรรมด้วย อย่าพยายามบังคับให้ครูของข้าทำตามข้อไขของเจ้า ให้ทำตามข้อไขของข้าเถิด เพราะกีฬาประเภทนี้ข้าคิดให้เขาเล่น และตัวข้าเองจะเป็นผู้ให้ถ้วยรางวัล


พระบรมนามาภิไธย

 ความในตอนท้ายของพระราชบันทึกดังกล่าวทรงระบุไว้ชัดว่า 

         "ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่ง สร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือ จะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม"

         ย่อมชี้ชัดว่า พระราชบันทึกนี้ทรงมุ่งหมายให้เสนาบดี และปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการได้ทราบถึงพระบรมราโชบายในการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นแทนพระอารามหลวง และมีพระราชประสงค์ที่จะใช้โรงเรียนนี้เป็นสถานที่ทดลองจัดการศึกษาตามแนวพระราชดำริที่ไม่เหมือนกับแนวทางจัดการศึกษาของกระทรวงธรรมการ 
    

        ต่อมาในระยะหลังนี้ การณ์กลับปรากฏว่า มีผู้เชื่อกันโดยสนิทใจว่า พระราชบันทึกนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้แก่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑล ทั้งยังเชื่อกันโดยสุจริตอีกว่า พระราชบันทึกนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย จนได้มีการคัดลอกลายพระราชหัตถ์นั้นเผยแพร่ต่อๆกันมา




                ยิ่งมีการคัดลอกลายพระราชหัตถ์นี้ไปประดับไว้ที่กองบังคับการค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ความเข้าใจผิดๆนี้จึงขยายความกลายเป็นว่า พระราชบันทึกนี้คือพระบรมราชปณิธานที่พระราชทานแก่คณะลูกเสือไทยไปเสียอีก.


                    สรุป
                    
        ๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชบันทึกด้วยลายพระหัตถ์เป็นภาษาอังกฤษแต่อย่างเดียว หาได้มีลายพระหัตถ์เป็นภาษาไทยไม่ ใครเป็นต้นเรื่องปลอมลายพระหัตถ์ก็ไม่ทราบ แต่ผู้ที่ได้พบเห็นต่างก็เชื่อโดยสนิทใจไปแล้ว

       ๒ พระราชปณิธานที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกไว้นี้  ทรงมุ่งหมายให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึงพระบรมราโชบายในการจัดการศึกษาของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง มิได้เป็นพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะลูกเสือแต่อย่างใด

--------------------------------------

เก็บความจาก
อ.วรชาติ  มีชูบท, จดหมายเหตุวชิราวุธ, “พระราชบันทึกเรื่องการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง”  http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal27.htm เข้าถึงเมื่อ วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๓




วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563

อนุสาวรีย์ของผู้ก่อตั้งขบวนการลูกเสือโลกที่เมืองพูล

POOLE, England (Reuters) – อนุสาวรีย์ของผู้ก่อตั้งขบวนการลูกเสือโลกจะได้รับการรักษาความปลอดภัยตลอด ๒๔ ชั่วโมงจนกว่าจะถูกโยกย้ายหรือจนกว่าภัยคุกคามจะลดลงหลังจากกลายเป็นเป้าหมายของการประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ
ก่อนหน้านี้ผู้ประท้วงในบริสตอลทางตะวันตกของอังกฤษได้ดึงรูปปั้นของเอ็ดเวิร์ด คอลสตัน พ่อค้าทาสสมัยศตวรรษที่ ๑๗ นำมาผลักทิ้งลงน้ำที่ท่าเรือ ซึ่งต่อมาสภาท้องถิ่นบริสตอลได้กู้คืนและแจ้งว่าจะนำไปตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์
สภาเทศบาลเมืองพูลกล่าวว่าจะย้ายอนุสาวรีย์ เบเดน-เพาเวลล์ วีรบุรุษจากสงครามอังกฤษ-โบเออร์ (British Boer War)เป็นการชั่วคราวจากที่ตั้งบนท่าเรือของเมืองชายทะเลในภาคใต้ของอังกฤษ เพิ่อรอการหารือเกี่ยวกับอนาคตของรูปปั้นต่อไป อย่างไรก็ตามการเคลื่อนย้ายอาจล่าช้าออกไปเล็กน้อย
การเดินขบวนประท้วงแพร่กระจายไปทั่วสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลังจากการตายของจอร์จ ฟลอยด์ ในอังกฤษเองก็มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับจักรวรรดินิยมในอดีต รูปปั้นจำนวนมากถูกโค่นล้มลง ในขณะที่อนุสาวรีย์ของ เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิลล์ผู้นำสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับรัฐสภาได้ถูกทำให้เสียหาย สภากล่าวว่ามี “ บางแง่มุมในชีวิตของ โรเบอร์ต เบเดน-เพาเวลล์ ไม่ควรค่าแก่การรำลึกถึง” ตำรวจกล่าวว่าอนุสาวรีย์อาจเป็นเป้าหมายของการทำลายก็ได้
อนุสาวรีย์ เบเดน–เพาเวลล์ สร้างขึ้นเมื่อกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เป็นรูป บี-พี นั่งมองข้ามท่าเรือไปยังเกาะบราวน์ซีอันเป็นสถานที่ซึ่งท่านเริ่มขบวนการลูกเสือในปี ๒๔๕๐
“ เรารู้ว่าคนในท้องถิ่นรู้สึกภาคภูมิใจในการเชื่อมโยง ลอร์ดเบเดน–เพาเวลล์ และ ขบวนการลูกเสือกับเมืองพูล และบางคนก็รู้สึกว่าเราน่าจะเลี่ยงการประท้วงโดยเคลื่อนย้ายรูปปั้นออกไปชั่วคราว” มาร์ค ฮาวเวลล์รองประธานสภากล่าว .

“ ถึงแม้เราไม่สามารถบอกได้ว่าจะโยกย้ายชั่วคราวเมื่อใด แต่เราก็จะจัดให้มีการรักษาความปลอดภัยตลอด ๒๔ ชั่วโมงจนกว่าอนุสาวรีย์จะถูกเคลื่อนย้าย หรือ ภัยคุกคามจะลดลงน้อยลง”

เบเดน – เพาเวลล์ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในการจัดตั้งขบวนการลูกเสือซึ่งมีสมาชิก ๕๔ ล้านคนทั่วโลกและในแบบสำรวจความคิดเห็นปี๒๕๕๐ เขาได้รับการลงคะแนนให้เป็นบุคคลผู้มีอิทธิพลมากที่สุดคนที่ ๑๓ ของสหราชอาณาจักรในศตวรรษที่ ๒๐ แต่นักวิจารณ์กล่าวว่าเขามีมุมมองแบ่งแยกเชื้อชาติและเป็นผู้สนับสนุนของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และ ลัทธิเผด็จการฟาสซิสต์
ชาวบ้านบางคนร่วมกับลูกเสือทั้งปัจจุบันและลูกเสือเก่าพากันตอบโต้แผนการเคลื่อนย้ายด้วยความโกรธเคือง เรื่องนี้ นายคอเนอร์ เบิร์น(Conor Burns) สมาชิกสภาผู้แทนในท้องถิ่น กล่าวว่าเป็น การตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมาก
โฆษกขององค์การลูกเสือกล่าวว่าองค์การกำลังรอการหารือเรื่องนี้กับสภา “ เพื่อการตัดสินใจอย่างมีข้อมูลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”
Writing by Michael Holden; Editing by Kate Holton, Andrew Heavens and Giles Elgood
Our Standards:The Thomson Reuters Trust Principles.