วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

 "คอนวอย"

คำว่า คอนวอย (Convoy) หมายถึง ขบวนยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นรถหรือเรือ หรืออาจใช้กับยานพาหนะที่ทำหน้าที่คุ้มกันขบวนเดินทางก็ได้ ถ้าเป็นกริยาอาจหมายถึง คุ้มกันการเดินทาง แต่ส่วนใหญ่เมื่อใช้คำว่า ‘คอนวอย’ก็จะทำให้นึกถึงภาพขบวนยานพาหนะ วิ่งกันมาเป็นแถว


เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อเรื่อง ‘CONVOY’ สร้างโดย แซม เพคกินพาห์ ผู้กำกับหนังบู๊จอมโหด มี คริส คริสทอฟเฟอร์สัน นักร้องเพลงคันทรี่ แสดงนำคู่กับ อาลี แมคกรอว์ นางเอกเรื่อง ‘Love Story’ อันโด่งดังสมัยโน้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับขบวนรถบรรทุกสมกับชื่อเรื่อง ภาพของพระเอกนางเอกหนังเรื่องนี้ติดอยู่ที่บังโคลนสิบล้อบ้านเราอยู่พักใหญ่ๆ


การทำหน้าที่คุ้มกัน หรือเดินทางเป็นเพื่อนนี้ เมื่อเป็นเรื่องของบุคคล มักจะใช้คำว่า เอสคอร์ท(Escort) ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า (Bodyguard) ครับ
มีบางช่วงเวลาของชีวิตที่ความจำเป็นในหน้าที่การงานทำให้ห่างเหินวงการลูกเสือไป เมื่อหวนกลับมาอีกครั้งก็พบว่ามีอะไรเปลี่ยนไปจากที่เคยรู้หลายอย่าง
เรื่องคำว่า ‘คอนวอย’ นี่ก็คำหนึ่งละครับ
เมื่อตอนได้ยินครั้งแรก มีผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งถามว่า
“ใครจะเป็นคอนวอยให้ประธานแคมป์ไฟ”
ผมงงครับ แต่ตอนนี้รู้ประสาแล้ว คอนวอยก็คอนวอยครับ
ผมแค่มาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น


ขอบคุณภาพจากงานโสตทัศนศึกษาโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม (ภาพไม่เกี่ยวกับเนื้อหาแต่อย่างใด)

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เริ่มมีลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่

 

      ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ โดยในปีนั้นลูกเสือออกจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ผู้ที่จะเข้ามาเป็นลูกเสือต้องเป็นด้วยความสมัครใจ และคณะลูกเสือแห่งชาติกำลังนำหลักสูตรลูกเสือแผนใหม่จากอังกฤษมาทดลองใช้

         เมษายน ๒๕๐๖ เปิดอบรมลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่เป็นรุ่นแรกที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ โดยมีกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่เป็นกองนำร่อง ๘ กอง จากโรงเรียนรัฐบาล ๔ กอง และ โรงเรียนราษฎร์(สมัยนั้นเรียกอย่างนี้) ๔ กอง ได้แก่

           โรงเรียนรัฐบาล

         ๑.โรงเรียนวัดราชาธิวาส

         ๒.โรงเรียนวัดมกุฎกษัตริย์

         ๓.โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

         ๔.โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร

            โรงเรียนราษฎร์

         ๑.โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง(ชื่อสมัยนั้น)

         ๒.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน

         ๓.โรงเรียนอำนวยศิลป์

         ๔.โรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี

        ลูกเสือไทยเริ่มรู้จัก ระบบหมู่ มีชื่อหมู่ ธงหมู่ การเปิดประชุมกอง การประชุมนายหมู่ ฯลฯใน พ.ศ.นั้น องค์กรสำคัญในการพัฒนาวิชาการลูกเสือขณะนั้นคือ สโมสรลูกเสือกรุงเทพฯซึ่งมี คุณครูเพทาย อมาตยกุล เป็นนายกสโมสร มีที่ตั้งอยู่ที่โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง ได้เปิดการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆของลูกเสือ ซึ่งรวมถึงหลักสูตรวิชาพิเศษด้วย

       พ.ศ.๒๕๐๗ คณาจารย์ลูกเสือขณะนั้นเพิ่งผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร Wood Badge สามัญรุ่นใหญ่รุ่นแรกกันมาใหม่ๆจึงเข้มแข็งกระตือรือร้นกันมากและเมื่อสโมสรลูกเสือกรุงเทพฯเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรลูกเสือ ก็จะมีบุคลากรจากโรงเรียนต่างๆมาเป็นกำลังสำคัญหลายท่าน เช่น อาจารย์สุรัฐ เพศยนาวิน , อาจารย์บัญญัติ ไม่อ่อนมือ จากโรงเรียนสันติราษฎร์ฯ อาจารย์สมชาย เมธานาวิน จากโรงเรียนไตรรัตน์ศึกษา อาจารย์สมชาย ญาณประสาท จากโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ฯลฯ

      พ.ศ.๒๕๐๗ เปิดอบรมลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่รุ่นที่ ๒ ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธเช่นกัน คราวนี้มีกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ใหม่ๆเพิ่มขึ้นรวมเป็น ๑๖ โรงเรียน อาทิเช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนวัดสังเวช โรงเรียนนันทนศึกษา เป็นต้น

      หลังจากนั้นในปีต่อมาไม่มีการฝึกอบรมอีก แต่มีการตั้งกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ในโรงเรียนต่างๆเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ จนกระทั่งเมื่อมีข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติฯ พ.ศ.๒๕๐๙ จึงมีการจดทะเบียนกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ขึ้น โดยมีโรงเรียนเทพศิรินทร์จดทะเบียนเป็นชื่อแรก.


พ.ศ.๒๕๐๗ : การอบรมลูกเสือบรรเทาสาธารณภัย(ลูกเสือดับเพลิง)ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิษฐ์ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่รุ่นแรกของประเทศไทยจากหลายโรงเรียนอยู่ในภาพนี้ ขอบคุณเจ้าของภาพ ล.ญ.เดชา ลาภเอกอุดม (ยืนขวาสุด) จากกองลูกเสือราชาธิวาส ต่อมาเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย


พ.ศ.๒๕๐๘ : กองลูกเสือราชาธิวาส ในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่๕ ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ