วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

 ลูกเสือไทยกับลูกเสืออังกฤษกำเนิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน

ถูกต้องครับ ลูกเสือไทยกับลูกเสืออังกฤษกำเนิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
ลูกเสืออังกฤษเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพสังคมอังกฤษ โดยเริ่มแก้ไขกันที่เยาวชนของชาติ ด้วยวิธีการแบบลูกเสือ


ส่วนลูกเสือไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือขึ้นเพื่อสนับสนุนความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนับสนุนกำลังกึ่งทหารอย่าง “เสือป่า”
ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการกำเนิดกิจการลูกเสือจึงต่างกัน


เมื่อวัตถุประสงค์ต่างกัน วิธีการเพื่อให้ไปถึงวัตถุประสงค์นั้นจึงต่างกันไปด้วย
ลูกเสืออังกฤษ เน้นให้เด็กทำงานร่วมกันเป็นหมู่เล็กๆ ฝึกให้เด็กตกลงใจร่วมกันในการประชุมลูกเสือในหมู่เดียวกัน และประชุมนายหมู่ร่วมกับหมู่ลูกเสืออื่นๆ เพื่อวางแผนและแก้ไขปัญหาต่างๆร่วมกัน ระบบลูกเสืออังกฤษฝึกให้เด็กกล้าแสดงออก กล้าออกความคิดเห็น ขณะเดียวกันต้องยอมรับฟังความเห็นต่างของผู้อื่น


กระบวนการเหล่านี้ปลูกฝังให้เยาวชนเคารพกฎกติกาแบบประชาธิปไตย สมทบด้วยระบบเกียรติศักดิ์ตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ ซึ่งลูกเสือต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดทั้งสิบข้อ ทำให้ผลผลิตคือเยาวชนของอังกฤษกลายเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ มีเกียรติ ได้รับการยอมรับจากสังคม และแน่นอนเมื่อเวลาผ่านไปเยาวชนเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ สังคมก็จะมีผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพตามไปด้วย
ในขณะที่ประเทศไทยมีสถานการณ์ต่างกันออกไป เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ระหว่างประเทศสยามกับฝรั่งเศส อันเกือบทำให้ประเทศสยามต้องสูญเสียเอกราชนั้น ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระชนม์ ๑๒ พรรษา ได้ทรงรับทราบสถานการณ์บ้านเมือง และความทุกข์โทมนัสของพระราชบิดาอย่างแน่นอน

ต่อมาอีกไม่กี่เดือนเมื่อพระชนม์ยังไม่เต็ม ๑๓ พรรษา สมเด็จพระราชบิดาก็ทรงส่งให้ไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ


ด้วยกุศโลบายรุกทางการเมืองนี้เองทำให้พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช หลายพระองค์แยกย้ายไปศึกษาและสนิทสนมคุ้นเคยกับพระราชวงศ์สำคัญต่างๆเกือบทุกประเทศในยุโรป นอกจากนี้เกือบทุกพระองค์รวมทั้งล้นเกล้าฯรัชกาลที่๖ เข้าศึกษาวิชาการทหารในยุโรปและวิทยาการสำคัญอื่นๆอีกหลากหลาย เพื่อ “ให้รู้เท่าทันเขา” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓


เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯในฐานะที่ทรงเคยศึกษาและปฏิบัติหน้าที่นายทหารแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ ย่อมทรงเข้าพระทัยดีว่าภัยคุกคามด้านกำลังทหารย่อมหนีไม่พ้นรูปแบบเดิมเมื่อ ร.ศ.๑๑๒ ซึ่งกองเรือปืนของฝรั่งเศสแล่นฝ่าแนวต้านทานเข้ามาจนถึงใจกลางพระนครอย่างแน่นอน และสยามก็คงไม่มีศักยภาพที่จะรบตามแบบต่อสู้กับชาติตะวันตกได้


สิ่งที่พระองค์น่าจะทรงดำริก็คือการรบนอกแบบ โดยใช้กำลังกึ่งทหารที่เรียกว่า “เสือป่า” ที่ทรงฝึกหัดขึ้นเพื่อทำสงครามกองโจรหากต้องร่นถอยออกไปทางนครปฐม บ้านโป่ง ราชบุรี ดังที่มีการซ้อมรบในพื้นที่ดังกล่าวอยู่หลายครั้ง และใช้กำลังเยาวชนที่ฝึกขึ้นเป็น “ลูกเสือ” เข้าช่วยเหลือสนับสนุนการรบ เช่นที่ บี.พี. เคยใช้ยุวชนทหารทำสำเร็จมาแล้วที่มาเฟคิง


การฝึกอบรมลูกเสือจึงเป็นการปลูกฝังความรักชาติ กล้าหาญ ซื่อสัตย์ และ จงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยิ่งกว่าการบำเพ็ญประโยชน์ เน้นที่การเชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่ง ยิ่งกว่าการแสดงความคิดเห็น การแสดงเหตุผล
เราจึงพบว่า แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ กองทัพก็ยังถือว่าการลูกเสือ คือเครื่องมือของกองทัพในด้านกำลังสำรอง การฝึกอบรมลูกเสือจึงกลายเป็นการส่งลูกเสือเข้าค่ายฝึกของทหาร เพื่อฝึกลูกเสือให้มีทักษะทางทหาร ยิ่งกว่าการอยู่ค่ายพักแรมในแบบฉบับของลูกเสือจริงๆ
การส่งเสริมให้เด็กมี 'จิตวิญญาณลูกเสือ-Scouting Spirit' กลายเป็นเรื่องรองไปเสียแล้ว