วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

สัญลักษณ์ลูกเสือโลก

สัญลักษณ์ลูกเสือโลก-The World Scout Emblem

สัญลักษณ์ซึ่งลูกเสือประมาณ ๒๕๐ ล้านคน ใช้ประดับมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งขบวนการ และ ทุกวันนี้ลูกเสือ ๑๖ ล้านคนใน ๑๕๐ ประเทศ ก็ยังคงใช้สัญลักษณ์นี้อยู่  เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วโลก

 แต่ลูกเสือและสาธารณชนก็มักถามกันบ่อยๆว่าสัญลักษณ์นี้เริ่มต้นมีความเป็นมาอย่างไร
   
ลอร์ด บาเดน-เพาเวลล์ ให้คำตอบด้วยตัวท่านเองว่าเครื่องหมายของเรานำมาจากเครื่องหมาย ชี้ทิศเหนือซึ่งใช้เขียนบนแผนที่ต่างๆเพื่อระบุทิศเหนือ  เลดี้ บาเดน-เพาเวลล์ ได้กล่าวภายหลังว่า มันแสดงหนทางแท้จริงที่เราจะมุ่งไป” 
                 
ดังนั้นสัญลักษณ์นี้จึงช่วยเตือนลูกเสือให้เป็นผู้ที่เที่ยงตรงและเชื่อถือได้ เสมือนดั่งเข็มทิศที่มุ่งไปยังอุดมการณ์ลูกเสือของพวกเขาและยังช่วยบอกหนทางให้กับผู้อื่นอีกด้วย

ในขบวนการลูกเสือ เราใช้ปลายยอดทั้งสามของสัญลักษณ์แทนคำปฏิญาณสามข้อของลูกเสือ ดาวห้าแฉกสองดวงที่ประดับอยู่นั้น ในบางประเทศใช้ แทน ความจริง และ ความรู้

      สำหรับสัญลักษณ์ลูกเสือโลกนั้น เครื่องหมายลูกเสือจะถูกล้อมรอบด้วยเชือก โดยผูกปลายติดกันด้วยเงื่อนพิรอด อันเป็นสัญลักษณ์แทนความสามัคคี และ ความเป็นพี่น้องกันของขบวนการลูกเสือทั่วโลก ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้เงื่อนพิรอดนี้หลุดออกได้ ไม่ว่าจะดึงอย่างแรงแค่ไหน เช่นเดียวกับกิจการลูกเสือที่แม้จะขยายตัวออกไปเท่าใด ขบวนการก็ยังคงความสามัคคีมั่นคง

       สีของเครื่องหมายลูกเสือโลกเป็นสีขาวบนพื้นสีม่วง(Royal Purple) สีเหล่านี้ก็เป็นสัญลักษณ์เช่นกัน  ในวิชาว่าด้วยตราประจำตระกูล สีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์ และสีม่วง แสดงถึงความเป็นผู้นำและการช่วยเหลือผู้อื่น

   ประวัติการออกแบบ

อันที่จริง เครื่องหมายลักษณะนี้มีใช้กันมานานหลายศตวรรษแล้ว ก่อนที่จะนำมาใช้ชี้ทิศเหนือในเข็มทิศ พบว่าชาวจีนใช้เครื่องหมายนี้เป็นสัญลักษณ์ชี้ทิศทางมาตั้งแต่สองพันปีก่อนคริสตกาล หนังสือสารานุกรมลารูส (Larousse Encyclopedia)บันทึกว่าเครื่องสำริดของชาวอิทรัสคัน และเครื่องประดับของชาวโรมันบางชิ้น มีเครื่องหมายนี้ปรากฏอยู่ นอกจากนี้ยังพบที่อนุสาวรีย์โบราณในอิยิปต์ และ อินเดีย อีกด้วย

เครื่องหมายนี้ถูกนำมาใช้ช่วยการนำร่องในยุโรป บางทีอาจจะตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๓  เมื่อมาร์โค โปโล  นำเข็มทิศกลับมาจากจักรวรรดิจีน สารานุกรมแกรนด์ (Grand Encyclopedia) ยกย่องนักเดินเรือชาวอิตาลีชื่อ ฟลาวิโอ กิโอจา แห่ง อมาลฟี (Flavio Gioja of Amalfi) ในการวาดรูปนี้เป็นสัญลักษณ์ ชี้ทิศเหนือ บนเข็มทิศสมัยแรกเริ่มที่เขาสร้างขึ้น

สารานุกรมบริแตนนิกา(Encyclopedia Britannica)ให้ข้อสังเกตอีกทัศนะหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นของสัญลักษณ์นี้ นั่นคือมันมีจุดกำเนิดมาจากทิศทางลมซึ่งเก่าแก่กว่าเข็มทิศแม่เหล็กเป็นอย่างมาก โดยเริ่มปรากฏให้เห็นครั้งแรกในแผนภูมิของนักเดินเรือแห่งทะเลเมดิเตอเรเนียน ทิศทางหลักของลมทั้งแปดทิศแสดงให้เห็นด้วยตัวอักษรกรีก และ ใช้ตัวอักษร "T" ซึ่งมาจาก  ทรามอนตานา(Tramontana )เป็นเครื่องหมายแสดงแทนลมเหนือ  ต่อมาตัวอักษร "T" ก็ถูกเสริมแต่งหรือเขียนร่วมกับหัวลูกศร จนกระทั่งนึกไม่ออกว่ามันคือตัว"T"  และ ลืมเลือนที่มาของมันไป

รูปแบบของสัญลักษณ์นี้ยังถูกนำไปใช้ในที่อื่นๆอีก เช่น พบในตราประจำตระกูลที่ออกแบบอย่างหรูหรา นอกจากนี้ยังพบในงาน ออกแบบตกแต่งต่างๆมากมาย บางครั้งมันจะมีความหมายแทน หอก หรือ หัวลูกศร, แทนดอกลิลลี่(เฟลอ เดอ ลีส์ - Fleur de Lys) และ แม้กระทั่งแทนผึ้งหรือคางคก

ปัจจุบัน สัญลักษณ์นี้ยังคงชี้ทิศทางให้กับต้นหนนักเดินทาง เช่นเดียวกับที่มันยังคงชี้ทิศทางในการให้บริการและความเป็นพี่เป็นน้องแก่สมาชิกของขบวนการลูกเสือทั่วโลก

---------------------------
ที่มา:
SCOUT FACTS, World Scout Bureau,  World Organization of the Scout Movement, June, 1985
http://pinetreeweb.com/crest.htm

วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

ลูกเสือคนแรกของไทย

ลูกเสือคนแรกของไทย


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งกองเสือป่า(Wild Tiger Corps) ขึ้น เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๕๔ โดยในชั้นแรกทรงมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร เพื่อเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง รู้จักระเบียบวินัย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แต่หลังจากนั้นต่อมาอีก ๒ เดือนคือ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ปีเดียวกันก็ได้พระราชทานกำเนิดกิจการลูกเสือขึ้นในประเทศไทยโดยทรงมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้วก็ควรที่จะมีการฝึกเด็กผู้ชายให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เพื่อที่เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองด้วยเช่นกัน
พระองค์ทรงตราข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือ และจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นตามโรงเรียน และสถานที่อันสมควรต่างๆ โดยทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) เป็นกองลูกเสือในพระองค์ เรียกว่า กองลูกเสือกรุงเทพฯที่ ๑ และพระราชทานคำขวัญให้กับลูกเสือไว้ว่า เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ที่มีข้อความจารึกอยู่ที่หัวเข็มขัดลูกเสือนั่นแหละครับ
จากนั้นได้ทรงตั้งสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งชาติขึ้น โดยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกและนับจากนั้นเป็นต้นมาพระมหากษัตริย์ต่อมาทุกพระองค์ก็ทรงเป็นสภานายกสภาลูกเสือแห่งชาติตลอดมา
แนวความคิดเรื่องการก่อตั้งกิจการลูกเสือนั้น  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับมาจากประเทศอังกฤษระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ที่นั่น  สืบเนื่องจากใน ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๔๔๒-พฤษภาคม ๒๔๔๓ ได้เกิดสงครามโบเออร์ครั้งที่ ๒ ระหว่างกลุ่มกสิกรชาวดัทช์(Boer)ซึ่งอพยพไปตั้งหลักแหล่งในแอฟริกา กับ กองทหารจักรภพอังกฤษ สงครามครั้งนี้ดำเนินอยู่ ๒๑๗วัน และได้สร้างชื่อเสียงให้กับ พันเอกโรเบอร์ต เบเดน-เพาเวลล์ หรือที่รู้จักกันในนาม บี-พี ผู้บัญชาการป้องกันเมืองมาเฟคิง-Mafeking(เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นมาฮีเคง-Mahikengเมื่อ ก.พ. ๒๕๕๓)มาเฟคิงอยู่ในจังหวัดควาซูลู-เนทาล(KwaZulu-Natal)ในแอฟริกาใต้ บี-พี นำเอาเด็กๆมาหัดเป็นนักเรียนทหารเข้าช่วยสนับสนุนการรบและสามารถปฏิบัติการได้ผลอย่างยิ่ง สามารถป้องกันเมืองไว้ได้ทั้งที่มีจำนวนทหารน้อยกว่าข้าศึกถึงสี่เท่า ชัยชนะที่มาเฟคิงนี้เอง ส่งผลให้กองทหารอังกฤษชนะสงครามโบเออร์ในที่สุด

หลังสงครามยุติ อีกเจ็ดปีต่อมา  เบเดน-เพาเวลล์ นำวิธีการหัดเด็กๆมาทดลองที่อังกฤษ ก่อให้เกิดกระแสนิยมอย่างกว้างขวาง และเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนากิจการลูกเสือโลก ในปี พ.ศ.๒๔๕๐
หลังจากนั้นอีก ๔ ปี ประเทศสยามจึงมีลูกเสือคนแรก
ลูกเสือสยามคนแรกชื่อ นายชัพน์  บุนนาค ครับ

นายชัพน์เป็นบุตรนายฉ่า กับ นางทองสุก บุนนาค เกิด พ.ศ. ๒๔๓๘ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๙ คน ชื่อ ชัพน์ นี่นับว่าเก๋มากในยุคนั้นครับ ถึงในยุคนี้ก็เถอะ คนชื่อชัพน์นี่น่าจะมีไม่กี่คนหรอก
ผมลองเปิดหนังสือลูกเสือดูหลายเล่ม บางเล่มจะเขียนชื่อท่านเป็น“ชัพก์”ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เพราะค้นพจนานุกรมแล้วไม่มีคำแปล แต่คำว่า “ชัพน์”นั้น มาจากคำว่า “ชวน”อ่านว่า ชะวะนะ ซึ่งพจนานุกรมฉบับมติชน ๒๕๔๗ ให้ความหมายว่า ความเร็ว, ความไว, ความแล่นของปัญญา. มาได้ข้อยุติเมื่อเปิดดูเว้บไซต์ของชมรมสายสกุลบุนนาค ที่เขียนชื่อท่านว่า “ชัพน์”
เมื่อตอนที่ท่านยังเล็กอยู่คุณหญิงไกรเพชรรัตนสงคราม (ฟอง บุนนาค) ผู้เป็นย่า ได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ ได้ศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
พ.ศ.๒๔๕๔ เมื่อโปรดเกล้าฯให้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรก อาจารย์ใหญ่ได้นำนายชัพน์ บุนนาค ซึ่งแต่งเครื่องแบบลูกเสือใหม่ ไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ทรงโปรดฯให้นายชัพน์กล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ ๓ ข้อ ถวายต่อพระพักตร์ และรับสั่งว่า
ในนามของข้า ผู้ให้กำเนิดลูกเสือ ข้ารับเจ้าเป็นลูกเสือไทยคนแรก ตั้งแต่บัดนี้ไป
ขณะนั้นทั้งโรงเรียนหรือจะกล่าวว่าทั้งประเทศไทย ก็ยังไม่มีใครได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือเช่นนี้ คงมีแต่นายชัพน์เพียงคนเดียวเท่านั้นจึงนับเป็นเกียรติประวัติอย่างยิ่ง
 หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์แล้ว นายชัพน์ได้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก และรับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณต่อมาจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายลิขิตสารสนอง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทดลองวิธีการปกครองแบบประชาธิปไตยและสร้างดุสิตธานีขึ้น โปรดเกล้าฯ ให้นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค) เป็นนคราภิบาลของดุสิตธานี ซึ่งตำแหน่งนี้น้อยคนนักที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้

นายลิขิตสารสนอง(ชัพน์ บุนนาค)ลูกเสือไทยคนแรกถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ รวมอายุ ๘๖ ปี

อ้างอิง :
ชมรมสายสกุลบุนนาค http://www.bunnag.in.th/prarajpannuang074.html