ลูกเสือคนแรกของไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งกองเสือป่า(Wild Tiger Corps) ขึ้น เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๕๔ โดยในชั้นแรกทรงมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร เพื่อเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง รู้จักระเบียบวินัย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แต่หลังจากนั้นต่อมาอีก ๒ เดือนคือ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ปีเดียวกันก็ได้พระราชทานกำเนิดกิจการลูกเสือขึ้นในประเทศไทยโดยทรงมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้วก็ควรที่จะมีการฝึกเด็กผู้ชายให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เพื่อที่เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองด้วยเช่นกัน
พระองค์ทรงตราข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือ และจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นตามโรงเรียน และสถานที่อันสมควรต่างๆ โดยทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) เป็นกองลูกเสือในพระองค์ เรียกว่า กองลูกเสือกรุงเทพฯที่ ๑ และพระราชทานคำขวัญให้กับลูกเสือไว้ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ที่มีข้อความจารึกอยู่ที่หัวเข็มขัดลูกเสือนั่นแหละครับ
จากนั้นได้ทรงตั้งสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งชาติขึ้น โดยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกและนับจากนั้นเป็นต้นมาพระมหากษัตริย์ต่อมาทุกพระองค์ก็ทรงเป็นสภานายกสภาลูกเสือแห่งชาติตลอดมา
แนวความคิดเรื่องการก่อตั้งกิจการลูกเสือนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับมาจากประเทศอังกฤษระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ที่นั่น สืบเนื่องจากใน ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๔๔๒-พฤษภาคม ๒๔๔๓ ได้เกิดสงครามโบเออร์ครั้งที่ ๒ ระหว่างกลุ่มกสิกรชาวดัทช์(Boer)ซึ่งอพยพไปตั้งหลักแหล่งในแอฟริกา กับ กองทหารจักรภพอังกฤษ สงครามครั้งนี้ดำเนินอยู่ ๒๑๗วัน และได้สร้างชื่อเสียงให้กับ พันเอกโรเบอร์ต เบเดน-เพาเวลล์ หรือที่รู้จักกันในนาม บี-พี ผู้บัญชาการป้องกันเมืองมาเฟคิง-Mafeking(เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นมาฮีเคง-Mahikengเมื่อ ก.พ. ๒๕๕๓)มาเฟคิงอยู่ในจังหวัดควาซูลู-เนทาล(KwaZulu-Natal)ในแอฟริกาใต้ บี-พี นำเอาเด็กๆมาหัดเป็นนักเรียนทหารเข้าช่วยสนับสนุนการรบและสามารถปฏิบัติการได้ผลอย่างยิ่ง สามารถป้องกันเมืองไว้ได้ทั้งที่มีจำนวนทหารน้อยกว่าข้าศึกถึงสี่เท่า ชัยชนะที่มาเฟคิงนี้เอง ส่งผลให้กองทหารอังกฤษชนะสงครามโบเออร์ในที่สุด
หลังสงครามยุติ อีกเจ็ดปีต่อมา เบเดน-เพาเวลล์ นำวิธีการหัดเด็กๆมาทดลองที่อังกฤษ ก่อให้เกิดกระแสนิยมอย่างกว้างขวาง และเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนากิจการลูกเสือโลก ในปี พ.ศ.๒๔๕๐
หลังจากนั้นอีก ๔ ปี ประเทศสยามจึงมีลูกเสือคนแรก
ลูกเสือสยามคนแรกชื่อ นายชัพน์ บุนนาค ครับ
นาย
ผมลองเปิดหนังสือลูกเสือดูหลายเล่ม บางเล่มจะเขียนชื่อท่านเป็น“ชัพก์”ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เพราะค้นพจนานุกรมแล้วไม่มีคำแปล แต่คำว่า “ชัพน์”นั้น มาจากคำว่า “ชวน”อ่านว่า ชะวะนะ ซึ่งพจนานุกรมฉบับมติชน ๒๕๔๗ ให้ความหมายว่า ความเร็ว, ความไว, ความแล่นของปัญญา. มาได้ข้อยุติเมื่อเปิดดูเว้บไซต์ของชมรมสายสกุลบุนนาค ที่เขียนชื่อท่านว่า “ชัพน์”
เมื่อตอนที่ท่านยังเล็กอยู่คุณหญิงไกรเพชรรัตนสงคราม (ฟอง บุนนาค) ผู้เป็นย่า ได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ ได้ศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
พ.ศ.๒๔๕๔ เมื่อโปรดเกล้าฯให้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรก อาจารย์ใหญ่ได้นำนายชัพน์ บุนนาค ซึ่งแต่งเครื่องแบบลูกเสือใหม่ ไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ทรงโปรดฯให้นายชัพน์กล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ ๓ ข้อ ถวายต่อพระพักตร์ และรับสั่งว่า
“ในนามของข้า ผู้ให้กำเนิดลูกเสือ ข้ารับเจ้าเป็นลูกเสือไทยคนแรก ตั้งแต่บัดนี้ไป”
ขณะนั้นทั้งโรงเรียนหรือจะกล่าวว่าทั้งประเทศไทย ก็ยังไม่มีใครได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือเช่นนี้ คงมีแต่นายชัพน์เพียงคนเดียวเท่านั้นจึงนับเป็นเกียรติประวัติอย่างยิ่ง
หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์แล้ว นายชัพน์ได้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก และรับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณต่อมาจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายลิขิตสารสนอง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทดลองวิธีการปกครองแบบประชาธิปไตยและสร้างดุสิตธานีขึ้น โปรดเกล้าฯ ให้นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค) เป็นนคราภิบาลของดุสิตธานี ซึ่งตำแหน่งนี้น้อยคนนักที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้
นายลิขิตสารสนอง(ชัพน์ บุนนาค)ลูกเสือไทยคนแรกถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ รวมอายุ ๘๖ ปี
อ้างอิง :
ชมรมสายสกุลบุนนาค http://www.bunnag.in.th/prarajpannuang074.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น