วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้


“ ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ”


      เคยเห็นข้อความนี้ไหมครับ พบปรากฏอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ตามสถาบันการศึกษา สถานที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการลูกเสือก็หลายแห่ง  แกะสลักบนแผ่นศิลาถาวรก็มี พิมพ์เป็นหนังสือก็มาก ยิ่งในสื่อดิจิตอลแล้ว เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ต่างๆ มีเยอะเชียวครับ

         ผมเองก็คงเช่นเดียวกับอีกหลายๆท่านที่เชื่อโดยสุจริตว่า ข้อความนี้เป็นพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงพระราชปณิธานแก่การลูกเสือ

          แต่ไม่ใช่ครับ ถูกแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น

      อาจารย์ วรชาติ มีชูบท บันทึกไว้ใน จดหมายเหตุวชิราวุธ, “พระราชบันทึกเรื่องการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง” มีสาระสำคัญ ดังนี้

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล


   อาจารย์วรชาติ เคยได้ยินหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรองประธานกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าให้ฟังว่า


     เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ซึ่งเป็นบิดาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ถึงอสัญกรรมลง  วันหนึ่งหม่อมหลวงปิ่นได้ไปเปิดลิ้นชักโต๊ะทำงานของท่านอดีตเสนาบดีผู้เป็นบิดา และได้พบพระราชบันทึกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงไว้ด้วยลายพระราชหัตถ์เป็นภาษาอังกฤษรวม ๔ หน้า หม่อมหลวงปิ่นจึงได้เก็บรักษาพระราชบันทึกนั้นไว้ในโต๊ะทำงานของท่านเจ้าคุณบิดาตามเดิม

            ต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาและกลับมารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ จนได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว ท่านจึงได้คัดลอกและแปลเนื้อความในพระราชบันทึกนั้นเป็นภาษาไทยมอบให้พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในเวลานั้นเพื่อเป็นแนวทางในการจัดอบรมนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยให้เป็นไปตามแนวพระบรมราโชบายที่พระราชทานไว้

    พระราชบันทึกแนวพระราชดำริทางการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงบันทึกไว้เป็นภาษาอังกฤษนั้น หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลไว้ ดังนี้

บันทึก

          ข้าส่งข้อความนี้มาเพื่อให้เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการอ่าน ข้าได้ขีดเส้นแดงใต้ข้อความบางตอน คือ ตอนที่ถูกใจข้าและตอนที่แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องที่ข้ารู้สึกตลอดมา
          ระบบการศึกษาและกฎเกณฑ์ทั้งหลาย ตลอดจนหลักสูตรแท้จริงทำให้เปลืองกระดาษไปเปล่าๆ ยิ่งกว่านั้นคือ เปลืองเวลาด้วย ถ้าไม่ทำให้ประชาชนเป็นอย่างที่เราต้องการสำหรับประเทศของเราได้เป็นผลสำเร็จ ข้าไม่หมายความว่าอะไรดีสำหรับเมืองอังกฤษจะต้องดีสำหรับเมืองไทยด้วย ตรงกันข้าม ถ้าจะเอาวิธีการของคนอังกฤษมาใช้ทั้งดุ้นโดยไม่มีการดัดแปลง ก็จะเป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์ แต่บันทึกนี้อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความคิดอะไรบ้าง
           สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียน “ชั้นมัธยม” ให้เป็นเทวดาเหมือนกันหมดทุกคน ได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนนเท่าการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง และสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่างๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆครั้งข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี และข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่า เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขเศษซ้อนไม่เป็น และไมรู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นลูกผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าไม่อยากได้ยิน “คนฉลาด” บ่นอีกว่า “ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่างๆ ลงไป ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงาม จนทำให้เด็กที่ออกไปแล้วหวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่ง สร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือ จะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม

          ที่ข้ากล่าวมานี้จะเข้ากันได้กับระบบการศึกษาของเจ้าหรือไม่ก็ตาม ถ้าเข้ากันได้ข้าก็ดีใจ แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ ก็ขอให้วิธีการของข้าได้รับการพิจารณาดำเนินการโดยยุติธรรมด้วย อย่าพยายามบังคับให้ครูของข้าทำตามข้อไขของเจ้า ให้ทำตามข้อไขของข้าเถิด เพราะกีฬาประเภทนี้ข้าคิดให้เขาเล่น และตัวข้าเองจะเป็นผู้ให้ถ้วยรางวัล


พระบรมนามาภิไธย

 ความในตอนท้ายของพระราชบันทึกดังกล่าวทรงระบุไว้ชัดว่า 

         "ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่ง สร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือ จะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม"

         ย่อมชี้ชัดว่า พระราชบันทึกนี้ทรงมุ่งหมายให้เสนาบดี และปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการได้ทราบถึงพระบรมราโชบายในการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นแทนพระอารามหลวง และมีพระราชประสงค์ที่จะใช้โรงเรียนนี้เป็นสถานที่ทดลองจัดการศึกษาตามแนวพระราชดำริที่ไม่เหมือนกับแนวทางจัดการศึกษาของกระทรวงธรรมการ 
    

        ต่อมาในระยะหลังนี้ การณ์กลับปรากฏว่า มีผู้เชื่อกันโดยสนิทใจว่า พระราชบันทึกนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้แก่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑล ทั้งยังเชื่อกันโดยสุจริตอีกว่า พระราชบันทึกนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย จนได้มีการคัดลอกลายพระราชหัตถ์นั้นเผยแพร่ต่อๆกันมา




                ยิ่งมีการคัดลอกลายพระราชหัตถ์นี้ไปประดับไว้ที่กองบังคับการค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ความเข้าใจผิดๆนี้จึงขยายความกลายเป็นว่า พระราชบันทึกนี้คือพระบรมราชปณิธานที่พระราชทานแก่คณะลูกเสือไทยไปเสียอีก.


                    สรุป
                    
        ๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชบันทึกด้วยลายพระหัตถ์เป็นภาษาอังกฤษแต่อย่างเดียว หาได้มีลายพระหัตถ์เป็นภาษาไทยไม่ ใครเป็นต้นเรื่องปลอมลายพระหัตถ์ก็ไม่ทราบ แต่ผู้ที่ได้พบเห็นต่างก็เชื่อโดยสนิทใจไปแล้ว

       ๒ พระราชปณิธานที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกไว้นี้  ทรงมุ่งหมายให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึงพระบรมราโชบายในการจัดการศึกษาของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง มิได้เป็นพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะลูกเสือแต่อย่างใด

--------------------------------------

เก็บความจาก
อ.วรชาติ  มีชูบท, จดหมายเหตุวชิราวุธ, “พระราชบันทึกเรื่องการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง”  http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal27.htm เข้าถึงเมื่อ วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๓




1 ความคิดเห็น:

  1. ศึกษาดีๆ นะคะ อาจารย์ เคยไปพิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6 แล้วหรือยังคะ? มีเป็นเล่มๆ เลยค่ะ ที่เป็นลายฝีพระหัตถ์ อย่ามโนอะไรไปเรื่อยเปื่อย ศึกษาจากประวัติศาสตร์ของจริง มีมากมายค่ะ ผลงานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6

    ตอบลบ