วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

เพลงศึกของซูลู - Zulu War Chants

อินกอนยามา-เขาคือสิงโต!

          ในหนังสือการลูกเสือสำหรับเด็กชาย’ เบเดน-เพาเวลล์แนะนำลูกเสือให้รู้จักกับเพลงศึกของซูลู ซึ่งท่านเรียกมันว่า เพลงประสานเสียงอินกอนยามา

อินกอนยามาเป็นเพลงศึกหนึ่งในเพลงศึกโบราณหลายๆบทที่นักรบซูลูใช้ขับร้องก่อนทำศึกสงคราม เบเดน-เพาเวลล์ได้ยินเพลงศึกนี้ครั้งแรกในซูลูแลนด์(ปัจจุบันคือจังหวัดควาซูลู-นาทาลในแอฟริกาใต้)

ในปี 1888 ร้อยเอก เบเดน-เพาเวลล์ เป็นส่วนหนึ่งของขบวนทหารที่ออกตามล่า ดินิซูลูหัวหน้าเผ่าซูลู ซึ่งเป็นผู้นำชนเผ่าอูซูตูในการต่อต้านการล่าอาณานิคมของบริติช ขบวนทหารนี้มีหัวหน้าเผ่าซูลูผิวขาวชื่อ จอห์น ดันน์ เข้าร่วมด้วย จอห์น ดันน์นำกำลังนักรบซูลู2000คนเข้าร่วมกับกองทัพบริติช บี-พี อธิบายถึงนักรบเหล่านี้ว่า

 พวกเขามีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และใบหน้าที่สง่างาม รื่นเริง..ผิวสีน้ำตาลถูกชโลมด้วยน้ำมัน จนดูราว อนุสาวรีย์ที่สร้างด้วยทองแดง

       ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังมาจากที่ไกลๆ ในตอนแรกก็คิดว่าเป็นเสียงออแกนบรรเลงอยู่ในโบสถ์ แว่บหนึ่งก็คิดว่าเรากำลังเข้าใกล้สถานีภารกิจซึ่งตั้งอยู่เหนือยอดเนิน แต่เมื่อเราขึ้นไปถึงยอดเนิน เรากลับได้เห็นแถวมนุษย์เป็นแถวตอนลึกยาวเหยียดสามแถว เคลื่อนที่จากหุบเขาข้างล่างมุ่งหน้าขึ้นมาหาเรา  ขณะที่เดินนั้นพวกเขาก็พากันร้องเพลงด้วยท่วงทำนองน่าอัศจรรย์ ทุกขณะจะมีชายผู้หนึ่งเป็นต้นเสียงร้องนำด้วยท่วงทำนองสองสามตัวโน้ต แล้วตามมาด้วยเสียงก้องกระหึ่มจากนักรบทั้งหมด ขานรับเป็นลูกคู่ ด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำลึก สลับกับเสียงสูงสอดประสานเป็นเสียงเดียว

          เมื่อก่อตั้งกิจการลูกเสือขึ้นแล้ว  บี-พี ได้นำเอาเพลงศึก  อินกอนยามาและการเต้นระบำของพวกไคคูยู(Kikuyu) ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อยู่แถบภาคใต้ของเคนยา มาผสมผสานออกแบบเป็นท่าทางการเต้นระบำของลูกเสืออีกด้วย
  
 เนื้อร้องและทำนองที่ บี-พี เขียนไว้มีดังนี้


ผู้นำ : อีนกอนยามา-กอนยามา!    
ลูกคู่ : อินวูบู ! ยาโบ! ยาโบ! อินวูบู!
คำแปลของบทเพลงก็คือ`เขาคือสิงโต! ใช่แล้ว! เขาดีกว่านั้น! เขาคือช้างน้ำ!' 
    

ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขียนไว้แปลได้ความอย่างนั้น ผมอ่านแล้วมีข้อสงสัยบางอย่างก็เลยลองค้นหา ดิกชันนารีภาษาซูลู จากคอมพิวเตอร์เน็ตเวอร์กดู ก็พบว่าบี-พี จดเนื้อร้องมาผิดไปนิดหน่อยครับ เพราะท่อนที่ บี-พี เขียนว่า  “In-voo-boo” นั้น ไม่พบคำแปลในภาษาซูลู แต่มีคำอื่นในภาษาซูลู ที่ออกเสียงว่า อัมวูบู หรือ อิมิวูบู (umvubu / imivubu) แปลว่า ช้างน้ำครับ

อ้างอิง :  http://isizulu.net/

ส่วนคำแปลนั้นหากแปลกันตรงตัวจากภาษาซูลู เนื้อเพลงก็ต้องแปลว่า
                 ผู้นำ : ‘สิงโต! สิงโต!                                          
                   ลูกคู่ : ช้างน้ำคือเขา! เขาคือช้างน้ำ!
         
          บี-พี สรุปโดยกล่าวว่า บทสวดอินกอนยามาจะต้องร้องอย่างมีชีวิตชีวาไม่ใช่ร้องพึมพำชวนเศร้าเหมือนบทสวดในพิธีศพ วิธีที่ดีที่สุดในแบบฉบับของซูลูก็คือ คนที่เป็นผู้นำจะแผดเสียงเนื้อร้องท่อนแรกนำด้วยเสียงอันดัง แล้วคนอื่นๆจะตะโกนตอบโต้ด้วยเสียงทุ้มต่ำ

                    อยากรู้ว่าเพลงศึกซูลูเป็นอย่างไร เข้าไปดูที่นี่ครับ บางตอนจากภาพยนตร์เรื่อง ซูลู


แต่ถ้าอยากรู้ว่าพวกไคคูยูเขาเต้นระบำกันยังไง ก็เข้าไปดู "Kikuyu Warriors Dance at Mt. Kenya Safari Club" ที่นี่ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=U3sceumdSAs

ดูแล้วหงอยๆพิลึก เหมือนแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งทางภาคเหนือที่เอาชนเผ่าต่างๆมาแสดงให้นักท่องเที่ยวดู มันไม่ใช่วิถีชีวิตครับ แต่กลายเป็นเอามรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษมาขายกิน ที่ไหนในโลกก็คงแบบเดียวกัน ไม่ว่าเคนยาหรือไทยแลนด์ก็ตาม

ไม่ต่างกันเท่าไหร่หรอกครับ

วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สุขสันต์วันเกิดหัวหน้าลูกเสือโลกและหัวหน้าเนตรนารีโลก

๒๒ กุมภาพันธ์  
วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ลอร์ด โรเบิร์ต สตีเฟนสัน สไมธ เบเดน-เพาเวลล์(Robert Stephenson Smyth Baden-Powell)(บี.พี.)ผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก/หัวหน้าลูกเสือโลก และ เป็นวันเดียวกับวันคล้ายวันเกิดของ เลดี้โอลาฟ เบเดน-เพาเวลล์ (Olave Baden-Powell)หัวหน้าเนตรนารีโลก เช่นกัน


ลอร์ด เบเดน-เพาเวลล์ หรือ บี-พี มีชื่อเต็มว่า โรเบิร์ต สตีเฟนสัน สไมธ เบเดน-เพาเวลล์(๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๐๐-๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔) เป็นผู้ให้กำเนิดกิจการลูกเสือ

เบเดน-เพาเวลล์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๐๐ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ บิดาชื่อ สาธุคุณ เอช.จี.เบเดน-เพาเวลล์ มารดาชื่อ เฮนริเอทต้า เกรซ สไมธ เป็นธิดาของพลเรือเอก ดับเบิลยู.ที.สไมธ เเห่งราชนาวีอังกฤษ

เมื่อ บี.พี อายุได้๑๑-๑๒ ปี ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนประถมชื่อ โรวฮิลล์เเละเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมชื่อชาเตอร์เฮาส์ ได้ ๒ ปี ต่อมาโรงเรียนได้ย้ายไปตั้งอยู่ในชนบท ณ เมืองโกคาลมิง เขามักใช้เวลาว่างเข้าไปใช้ชีวิตเเละศึกษาธรรมชาติในป่าโดยลำพัง

ชีวิตวัยเด็กของ บี-พี ได้รับความรู้เรื่องการว่ายน้ำ เล่นสเกต ขี่ม้า วัดแดด ดูดาว เเละนอกจากนี้เขายังชอบการวาดรูป ร้องเพลง เเละ เเสดงละครอีกด้วย

ปีสุดท้ายที่เรียนอยู่ที่ชาเตอร์เฮาส์ บี-พี ได้ไปสมัครสอบเข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดถึงสองครั้งเเต่สอบไม่ได้ ในปี พ.ศ.๒๔๑๙ เขาสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยเเซนด์เฮิสต์ ได้ที่ ๕ เเละได้รับเเต่งตั้งเป็นนายร้อยตรีในกองทัพบกอังกฤษ เเละถูกส่งไปประจำการที่ประเทศอินเดีย เมื่ออายุ ๑๙ ปี

ชีวิตราชการทหารของบี-พี ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอินเดีย เเละ ทวีปแอฟริกา มีสิ่งที่ประทับใจที่เกี่ยวกับกิจการลูกเสือเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น
  • ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๔๓๑ ได้ไปปราบชนเผ่าซูลู ในเเอฟริกาใต้จนสำเร็จ
  • ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๓๒ ที่เกาะมอลต้า บี-พี ได้รับเเต่งตั้งเป็นผู้ช่วยทูตทหาร ทำหน้าที่เป็นทหารสืบราชการลับ
  • ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๔๓๘ ทำการรบกับเผ่าอาซันติ ซึ่งมีกษัตริย์ชื่อว่าพระเจ้าเปรมเปห์ เเละเขาได้รับชัยชนะ
  • ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๔๓๙ ได้ไปปราบพวกกบฏมาตาบิลีซึ่งเป็นเผ่าหนึ่งของซูลู
  • ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๔๔๒ บี-พี ได้นำกองทัพไปป้องกันการรุกรานของพวกโบเออร์ ที่เมืองมาฟอีคิง เขารักษาเมืองไว้ได้จนมีกองทัพใหญ่ไปช่วย ทำให้พวกโบเออร์ต้องล่าถอยไป ในการป้องกันเมืองมาฟอีคิงเขาได้ใช้เด็กอาสาสมัครทำหน้าที่ส่งข่าวและช่วยเหลือการรบ ซึ่งเด็กก็ทำหน้าที่ได้ดี ทำให้บี-พี ประทับใจในตัวเด็ก
ใน พ.ศ.๒๔๕๑ บี-พี ได้ริเริ่มก่อตั้งกองลูกเสือขึ้นสำหรับเด็กชาย



ในวันคล้ายวันเกิดอายุครบ ๓๒ ปี ของ บี-พี คือวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๒ เด็กหญิงคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นที่เมืองเชสเตอร์ฟิลด์ ประเทศอังกฤษ เธอชื่อ โอลาฟ เซนต์แคลร์ โซมส์ (Olave St Clair Soames)


ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๕๕ โอลาฟก็ได้พบกับ วีรบุรุษจากสงครามโบเออร์ ครั้งที่ ๒ ผู้ก่อตั้งกิจการลูกเสือโลก โรเบิร์ต เบเดน-เพาเวลล์ บนเรือเดินสมุทรอาร์เคเดียน ระหว่างการเดินทางไปนิวยอร์คเพื่อเริ่มต้นการเดินทางเยี่ยมกิจการลูกเสือโลก

 ทั้งสองเกิดในวันเดียวกัน โอลาฟ อายุ ๒๓ ส่วน บี-พี อายุ๕๕ ทั้งสองถูกชะตากันอย่างรวดเร็ว และหมั้นกันในเดือนกันยายน สร้างความตื่นเต้นให้สื่อมวลชนเป็นอย่างยิ่ง พอวันที่ ๓๐ ตุลาคม ปีเดียวกันนั้น ทั้งสองก็สมรสกันอย่างเงียบๆเพื่อความเป็นส่วนตัว โอลาฟ เบเดน-เพาเวลล์ ได้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งกิจการเนตรนารี สำหรับเด็กหญิง ร่วมกับน้องสาวของ บี-พี คือ แอกเนส เบเดน-เพาเวลล์



เมื่อ บี-พี มีอายุ๘๐ปีได้เดินทางกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองนิเยรี ประเทศเคนยา (Nyeri,Kenya)ในเเอฟริกา เพื่อพักผ่อนในช่วงสุดท้ายของชีวิต จนถึงเเก่กรรมที่ประเทศเคนยา เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ อายุ ๘๓ ปี ส่วนโอลาฟ เบเดน-เพาเวลล์ มีชีวิตยืนยาว และ ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อกิจการเนตรนารีต่อมา จนกระทั่งถึงเเก่กรรมเมื่อ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๐


ร่างของทั้งสองถูกฝังไว้เคียงกันที่สุสาน ณ เมืองนิเยรี ประเทศเคนยาบ้านหลังสุดท้ายของหัวหน้าลูกเสือโลกและหัวหน้าเนตรนารีโลก




วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ลูกเสือไทยก้าวสู่ศตวรรษที่สอง




๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔ เป็นปีที่ลูกเสือไทยมีอายุยืนยาวมาแล้วถึง ๑๐๐ปี กิจกรรมหรือองค์กรใดมีอายุยืนยาวมาถึงขนาดนี้ได้ต้องนับว่ามีความพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงอยู่ยงคงกระพันมาได้ แต่การดำรงอยู่ขององค์กรนั้นๆจะยังคงวัตถุประสงค์ดั้งเดิมเมื่อแรกสถาปนาไว้ได้หรือไม่ ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องพูดถึงกันต่อไป
ก่อนหน้าปี พ.ศ.๒๕๕๔ อันเป็นปีที่ครบรอบนั้น กระทรวงศึกษาธิการเคยดำริจะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยรูปแบบของการจัดงาน จะเป็นการชุมนุมลูกเสือไทย ไม่ว่าจะเป็น ลูกเสือสามัญ ลูกเสือชาวบ้าน ลูกเสือต่างๆ เข้ามาร่วมชุมนุม เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในวาระที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษาด้วย นอกจากนี้ยังวางแผนจะจัดกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย แต่เอาเข้าจริงงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี ลูกเสือไทย กลับดูกร่อยๆไป ไม่คึกคักเท่าที่ควร
 นอกจากการเฉลิมฉลองแล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังมีแผนที่จะบูรณาการกระบวนการจัดการเรียนหลักสูตรลูกเสือให้เชื่อมโยงกับการปฏิรูปการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนกิจการของลูกเสือไทยในศตวรรษที่สองให้ไปในทิศทางเดียวกันกับการปฏิรูปการศึกษาอีกด้วย

           กระทรวงศึกษาธิการ เคยขอความร่วมมือจากคณะกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภา ต่อยอดและขับเคลื่อนกิจการลูกเสือไทยอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูลูกเสือไทยและเกิดสังคมประชาธิปไตยในสังคมไทยต่อไป โดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมลูกเสือคุณธรรมลูกเสือประชาธิปไตย และลูกเสือต้านภัยยาเสพติด ซึ่งองค์กรหลักของกระทรวงฯ ทั้ง ๕ หน่วยงานจะคอยควบคุมกำกับดูแล ด้านนโยบาย, วางแผนพัฒนา และส่งเสริมสถานศึกษาจัดกิจกรรมลูกเสือให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

          ผู้ที่ติดตามข่าวสารเหล่านี้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวงการลูกเสือล้วนตื่นเต้นยินดีที่กิจการลูกเสือจะพลิกโฉมหน้าใหม่สู่ศตวรรษที่ ๒ แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอในวงการการศึกษา ก็คือ การดำริใดๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา หรือ เรื่องการลูกเสือก็ตาม มักจะตื่นเต้นฮือฮากันในระดับเบื้องบน แต่ในระดับผู้สอน ผู้ปฏิบัติ คือครูบาอาจารย์ในโรงเรียน การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงใดๆกลับกลายเป็นภาระ และมักเกิดข้อขัดข้องในทางปฏิบัติที่ทำให้โครงการสวยหรูต่างๆล้มเหลว ไม่บรรลุผลตามที่คาดหวัง

พลเอกมานะ รัตนโกเศศ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
          วิชาลูกเสือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เมื่อการลูกเสือถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ในยุคที่พลเอก มานะ รัตนโกเศศ เป็นรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ วิชาลูกเสือก็กลายสภาพเหมือนเป็นวิชาสามัญทั่วไป ที่ครูทุกคนจำเป็นต้องสอน เช่นเดียวกับวิชา วิทยาศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์ ซึ่งเด็กจะต้องเข้าไปนั่งฟังคำบรรยายของครู ในชั่วโมงเรียนที่จำกัด อาจเพียงสัปดาห์ละ ๑ คาบเรียน หรือ ๕๐ นาที ถามว่าจะคาดหวังให้ครูผู้สอนทำอะไรได้มากเพียงไหนในการที่ต้องสอนเนื้อหาสาระ ต้องฝึกปฏิบัติ ต้องอบรมความประพฤติ ฯลฯ ในเวลาที่จำกัดเช่นนั้น แน่นอนที่กระบวนการฝึกอบรมแบบลูกเสือก็ต้องถูกตัดทอนไป ในส่วนของครูผู้สอนเองก็ตาม นอกเหนือจากการทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานศึกษา มีสักกี่คนที่มีความพึงพอใจที่จะสอนลูกเสือ มีสักกี่คนที่มีทักษะ และสามารถเป็นแบบอย่างให้เยาวชนได้เจริญรอยตาม สิ่งต่างๆเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพของเยาวชนในระยะยาว อย่างที่เรานึกไม่ถึง

          ผมจะยกตัวอย่างง่ายๆให้เห็น ผู้ใหญ่ของเรามักมีความคิดว่า เด็กๆไม่มีวินัย ขาดความรับผิดชอบ และมักจะคิดว่าเรื่องนี้จะแก้ได้ด้วยกระบวนการลูกเสือ เสมือนลูกเสือคือสูตรสำเร็จที่จะช่วยให้เด็กมีวินัยได้ แล้วจับเอาเด็กมาแต่งลูกเสือ หัดแถว สารพัดวิธีการที่ทหารใช้เอามาฝึกเด็ก แม้การเข้าค่ายพักแรม แทนที่จะเป็นกระบวนการแบบลูกเสือก็กลับพาเด็กไปเข้าค่ายฝึกของทหาร แล้วมอบหมายให้ทหารเป็นผู้ฝึก ด้วยความมุ่งหวังว่า สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้เด็กๆมีวินัยได้ ก็บรรลุผลตามความต้องการครับ เด็กอาจเกิดวินัยทำอะไรพร้อมเพรียงกันก็จริง แต่นั่นคือวินัยที่เกิดจากการปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่ใช่วินัยที่เกิดขึ้นในตัวเอง วิธีการแบบทหารเป็นสิ่งจำเป็นในการปฏิบัติการแบบทหาร แต่กระบวนการเช่นนี้เหมาะสมกับลูกเสือแล้วหรือ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเด็กคุ้นเคยกับการปฏิบัติตามคำสั่ง(ที่หากฝ่าฝืนหรือทำผิดไปจากคำสั่งจะต้องมีบทลงโทษ)มากกว่าการคิดด้วยเหตุผล หรือการรับฟังความเห็นของผู้อื่น กระบวนการลูกเสือที่แท้จริงคือการอบรมประชาธิปไตยในทางการปฏิบัติให้แก่เยาวชนครับ แต่กระบวนการลูกเสือที่ประเทศไทยใช้อยู่ทุกวันนี้กลับนำไปสู่พฤติกรรมเผด็จการแทน


            เรามักได้ยินเสียงบ่นจากผู้ใหญ่อยู่เสมอว่า เด็กทุกวันนี้มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ใจร้อนและก้าวร้าวมากขึ้น ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ขาดสัมมาคารวะ ไม่มีวินัยในตัวเอง ฯลฯ และมักสรุปว่าต้องเอาการลูกเสือเข้ามาแก้ไข วิชาลูกเสือเข้ามาอยู่ในหลักสูตรกว่า ๒๐ ปีแล้วครับ ถ้าคิดว่าเด็กในรุ่นนั้นมีอายุ ๑๕ ปี ปัจจุบันก็น่าจะอายุใกล้ ๔๐ ปีแล้ว สรุปก็คือคนอายุ ๓๘-๓๙ ปีลงมาคือคนที่ต้องเคยเรียนวิชาลูกเสือตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษามาแล้ว นี่คือผลผลิตครับ สังคมไทยที่ผู้คนใจร้อน ก้าวร้าว ไม่รับฟังความเห็นผู้อื่น ฯลฯ ส่วนหนึ่งอาจสืบเนื่องมาจากการนำกระบวนการลูกเสือที่ผิดเพี้ยนเอามาใช้ก็เป็นได้ และถ้ายังไม่ทบทวนเรื่องนี้ให้ดี อีก๑๐๐ปีข้างหน้าปัญหานี้ก็จะยังคงมีอยู่ บุคลิกภาพของคนไทยใน พ.ศ.นั้นจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ยังต้องวิสัชนากันอีกยาวครับ


          ลูกเสือไทยกำลังก้าวเดินสู่ทศวรรษที่๒ ในขณะที่ปัจจุบันนี้เรามีเด็กที่เป็นลูกเสือจำนวนมากเกือบจะที่สุดในโลก กระทรวงศึกษาธิการก็กำลังมีโครงการปฏิรูปการศึกษา ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองล้วนเห็นพ้องต้องกันที่จะนำการลูกเสือเข้ามามีส่วนในการพัฒนาเยาวชนของชาติ

          ทบทวนกันให้ดี ก่อนจะก้าวเดินกันต่อไปนะครับ ถึงจะมีความตั้งใจดี แต่ถ้ากระบวนการผลิตมันผิดพลาด ผลที่ได้อาจเสียหายใหญ่หลวงก็ได้
         

วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ไม้พลองลูกเสือ



ไม้พลองลูกเสือจำลองแบบมาจากไม้พลองที่เคยใช้ในระหว่างการยุทธกับเผ่าอาชานติ(Ashanti)เพื่อทดสอบความลึกของหนองบึง,เพื่อคลำหาทางในเวลากลางคืนขณะที่ไปสอดแนมที่ตั้งข้าศึกอย่างลับๆ และ ยังเคยใช้ในการแขวนสายโทรเลขไปตามกิ่งไม้ในป่า


ที่อาชานติบนฝั่งตะวันตกของแอฟริกา เป็นที่ซึ่งภารกิจเฉพาะของข้าพเจ้าคือการจัดระเบียบและบังคับบัญชาเหล่าทหารลาดตระเวนสอดแนมและนักบุกเบิกชาวพื้นเมือง     

 เราทำงานล่วงหน้ากองกำลังหลักชาวยุโรปประมาณ2-3วัน ในป่าดึกดำบรรพ์ที่รกทึบ ปราศจากถนนหนทางใดๆที่จะช่วยคุ้มครองเรา

         เพื่อหลีกเลี่ยงข้าศึก การรุกคืบหน้าของเราจึงต้องอาศัยดำเนินการในเวลากลางคืน ซึ่งหมายถึงความยากลำบากเกือบจะทุกย่างก้าวที่เดินไประหว่างท่อนซุงที่ล้มลง, กระแสโคลน, พงต้นกก, และป่าละเมาะ ฯลฯ

         หากปราศจากไม้พลอง ไม่มีใครจะสามารถผ่านไปได้แน่นอน

- B-P -


 

ตำรวจสนามแอฟริกาใต้

South African Constabulary



เครื่องแบบลูกเสือเมื่อเริ่มแรกนั้นจำลองแบบมาจากเครื่องแบบของตำรวจสนามแอฟริกา
หลังจากการรบป้องกันเมืองมาเฟคิง และ การสิ้นสุดของสงครามระหว่างอังกฤษกับพวกโบเออร์ อังกฤษก็เข้าควบคุมอดีตสาธารณรัฐทรานสวาล และ เสรีรัฐออเรนจ์ของพวกโบเออร์ ตำรวจสนามของแอฟริกาใต้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ทหารบกในยามสงบ โดยปฏิบัติหน้าที่กึ่งตำรวจและกึ่งกำลังทหาร เพื่อรักษาความสงบอดีตสาธารณรัฐซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐแอฟริกาใต้ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

เบเดน-เพาเวลล์ ในฐานะผู้นำซึ่งมีความสามารถเป็นที่ยอมรับ ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้รับผิดชอบจัดตั้งองค์กรตำรวจสนามของแอฟริกาใต้ ภายในระยะเวลาอันสั้น เขาระดมกำลังอย่างรวดเร็วจากอาณานิคมสองแห่งของบริติช คือ จากเขตพื้นที่ปลายแหลมและจากเขตนาทาล ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพแอฟริกาใต้ บี-พี ยังระดม นายทหารและพลทหารมาจาก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา อินเดียและศรีลังกา อังกฤษและไอร์แลนด์ อีกด้วย

บี-พี ออกแบบเครื่องแบบด้วยตัวเอง ประกอบด้วยเสื้อเชิ้ตแบบไม่เป็นทางการและหมวกปีกกว้างยอดนิยมแบบจ้าวทุ่งของเขา เครื่องแบบนี้เป็นทางการน้อยกว่าและเหมาะกับการปฏิบัติงานมากกว่าเครื่องแบบทหาร บี-พี พอใจความสะดวกสบายของเสื้อผ้าตำรวจชายแดนพวกนี้มาก

ต่อมาภายหลังเมื่อเขาก่อตั้งกิจการลูกเสือสำหรับเด็กชายขึ้น บี-พี ใช้เครื่องแบบที่คล้ายคลึงกันมาก นั่นคือ เสื้อเชิ้ตและกางเกงขาสั้นสีกากี ผ้าผูกคอ และหมวกปีกกว้างอันมีชื่อเสียงของเขา

สีดั้งเดิมของเครื่องหมายลูกเสือคือ สีทองและสีเขียว ซึ่งมาจากสีของรัฐทรานสวาลด้วยเช่นกัน


ลูกเสือนับพันทั่วโลกเคยสวมเครื่องแบบนี้ แม้ว่าทุกวันนี้จะมีลูกเสือจำนวนไม่มากนักที่ยังคงแต่งกายแบบดั้งเดิม ลูกเสือแอฟริกาใต้ที่เข้าร่วมชุมนุมลูกเสือโลกจะปรากฏกายในชุดลูกเสือแบบดั้งเดิม คือ เครื่องแบบสีกากีและสวมหมวกปีกกว้าง พร้อมด้วยผ้าผูกคอสีเขียวและทอง


ลูกเสือสำรองแอฟริกาใต้ฝึกทักษะการผูกเงื่อน
ผู้ใหญ่ในภาพคือ นคเวนคเว นโคโม(Nkwenkwe Nkomo),
หัวหน้าลูกเสือแอฟริกาใต้ ค.ศ. 1998


อ้างอิง :
           http://pinetreeweb.com/
             http://www.scouting.org.za/seeds/sac.html


การลูกเสือคือการละเล่นที่มีวัตถุประสงค์

การลูกเสือคือการเล่นที่มีวัตถุประสงค์
"Scouting is a Game with a Purpose"
แนวความคิดในการนำคุณค่าของการลูกเสือสู่เยาวชน

ข้างกองไฟอันสงบเงียบ ดึกมากแล้ว คุณกำลังนั่งอยู่ข้างกองไฟ พวกลูกเสือพากันนอนหลับอยู่ในเต็นท์ของพวกเขาหรืออย่างน้อยคุณก็คิดว่าพวกเขาน่าจะหลับกันแล้ว อย่างไรก็ตาม นี่เป็นคืนแรกที่คุณพากันออกมาพักแรมกลางแจ้ง ขอกาแฟอีกสักถ้วยแล้วคุณก็จะยอมรับว่านี่มันมืดค่ำแล้ว คุณเพ่งมองไปยังถ่านไฟที่รางเลือน-ความทรงจำโบยบินย้อนไปสู่อดีตเมื่อครั้งที่ตัวคุณเองยังเป็นลูกเสือคนหนึ่ง

คุณเงยหน้าขึ้นและมองเห็นชายสูงวัยผู้หนึ่งนั่งอยู่บนขอนไม้ฝั่งตรงข้ามของกองไฟ หน้าตาดูคุ้นๆ ซึ่งก็ทำให้คุณใช้เวลาอึดใจหนึ่งกว่าจะนึกได้ว่าท่านคือใคร ท่านแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ซึ่งแม้จะดูล้าสมัยแต่ก็สง่างาม นุ่งกางเกงขาสั้น ถุงเท้ายาว เสื้อแขนสั้น(เสื้อแบบเก่าล้าสมัย ไม่มีใครสวมเสื้อแบบนี้มาหลายปีแล้ว)สวมผ้าผูกคอวูดแบดจ์ มีวอกเกิล และสายบีดด้วย ใบหน้าของท่านแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างโชกโชน แต่ก็ยังดูหนุ่มกว่าวัย ดวงตาสีฟ้าสดใสคู่นั้นส่งประกายระยิบระยับเหมือนดวงตาของคนหนุ่มทีเดียว

ท่านมองข้ามกองไฟมาทางคุณแล้วยิ้ม ถึงตอนนี้คุณก็ค่อยๆนึกออก ไม่น่าเป็นไปได้ที่บุรุษผู้นั่งเผชิญหน้าอยู่กับคุณคนละฟากกองไฟนั้นคือ บี.พี.-“ผู้ให้กำเนิด”- “หัวหน้าลูกเสือโลก

คุณรู้ไหม ท่านเอ่ยขึ้นในขณะที่โน้มตัวลงเขี่ยฟืนด้วยไม้เท้าตะปุ่มตะป่ำสีดำ

ผมประหลาดใจอยู่บ่อยๆว่าการลูกเสือจะยังคงอยู่กับเยาวชนของโลกหรือไม่เมื่อผมจากไปแล้ว ขณะที่ความเจริญก้าวหน้าก็จะนำความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายตามมา มีอะไรหลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อแรกเริ่ม, ถึงสงครามโลกครั้งที่สอง และก้าวต่อมาคือเทคโนโลยี ชีวิตดูเหมือนจะยุ่งเหยิงสับสนอย่างมากในทุกวันนี้ และปัญหาทั้งหลายที่คุณมีในวันนี้ก็ยังเหมือนกับปัญหาทั้งหลายที่ผมได้เห็นเมื่อครั้งที่ผมเดินทางกลับจากการไปใช้ชีวิตในแอฟริกาเสียหลายปี

สำเนียงการพูดของท่านเป็นอย่างที่เราจำกัดความได้ว่า “อังกฤษแท้”บุคลิกสบายๆและดูเป็นมิตร พลางกล่าวต่อไปว่า

“เมื่อผมเดินทางท่องเที่ยวไปในประเทศ ซึ่งก็คืออังกฤษนี่แหละ ย้อนไปในสมัยที่เกิด สงครามครั้งแรกผมได้เห็นปัญหาของการขาดทิศทางของเยาวชนของเรา ผมได้เห็นอาชญากรรมและความยากจน, มาตรฐานของศีลธรรมตกต่ำ และ ระบบการศึกษา ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของสังคม หรืออารยธรรมของเรา สิ่งนี้ทำให้ผมและคนอื่นๆอีกหลายคนเป็นห่วงอย่างยิ่ง“

“คุณอาจจะรู้ว่าการลูกเสือเริ่มต้นอย่างไร รู้เรื่องเกี่ยวกับเกาะบราว์นซี และ การลูกเสือสำหรับเด็กชาย นอกจากนี้ผมได้เล่าเอาไว้ในหนังสือ “บทเรียนจากมหาวิทยาลัยชีวิต - Lessons from the Varsity of Life ของผม ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี1933 อันเป็นครั้งแรกที่ผมได้เขียนเกี่ยวกับการลาออกจากกองทัพบก :

         “ต้องใช้แรงฉุดกระชากอย่างมาก ที่จะดึงก้าวสุดท้ายให้ล่วงพ้นออกมาจากกองทัพซึ่งผมรักอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกัน ผมก็มิได้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ในการที่จะยกเท้าออกจากขั้นบันได(ของการเลื่อนยศ-ตำแหน่ง) เนื่องจากผมเองก็มิได้มีความปรารถนาที่จะไต่เต้าขึ้นไปให้สูงกว่านี้ ”
         
“ในจดหมายที่รัฐมนตรีการสงครามส่งมาถึงผม ไม่มีคำพูดปลอบใจแม้แต่น้อย เพียงแสดงความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ในการสูญเสียผมไปจากกองทัพ” แล้วแถมด้วยถ้อยคำ ”แต่ผมรู้สึกว่าการจัดองค์การลูกเสือของคุณจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในอนาคต โดยอาจเป็นการสนองคุณครั้งยิ่งใหญ่เท่าที่คุณจะอุทิศตนให้กับประเทศชาติได้ด้วยตัวของคุณเอง”

          “ และแล้วก็ถึงกาลอวสานของชีวิตหมายเลข ๑“

         
“ผมได้เขียนไว้ใน บทเรียนจากมหาวิทยาลัยชีวิตเกี่ยวกับการเริ่มต้นของชีวิตหมายเลข ๒ โดยได้อธิบายกฎง่ายๆในการพัฒนากรอบการทำงานของการลูกเสือ  ดังนี้..“  

                                                 
เค้าโครง                                              

          “วัตถุประสงค์ของเราคือ เพื่อปรับปรุงมาตรฐานประชากรในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของบุคลิกภาพและสุขภาพอนามัย เราน่าจะต้องคำนึงถึงจุดอ่อนที่สำคัญในบุคลิกภาพของชาติและกำจัดจุดอ่อนเหล่านี้ให้ได้ผล โดยการเสนอสิ่งที่มีคุณค่าซึ่งหลักสูตรสามัญของโรงเรียนต่างๆไม่สามารถสนับสนุนได้  เช่น กิจกรรมกลางแจ้ง งานฝีมือ และ การบริการต่อผู้อื่น อันเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอยู่ในลำดับต้นๆ”
          “วัตถุประสงค์ในด้านบุคลิกภาพและสุขอนามัย ขยายความออกได้เป็น บุคลิกภาพ หน้าที่พลเมือง และ พลานามัย กว่า๘๐ปีต่อมาหลังจากนั้น วัตถุประสงค์ก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง”
        “ ผมชอบที่จะกล่าวเสมอว่า 'การลูกเสือคือการละเล่นที่มีวัตถุประสงค์' แม้แต่ทุกวันนี้เราก็ยังคงสามารถกล่าวคำนี้อยู่ การลูกเสือเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ๓ ประการ : นั่นคือ เกี่ยวข้องกับความสนุก ,คุณค่า และ การเรียนรู้ ความสนุกคือเกมการละเล่น การเรียนรู้คือกระบวนการ และ คุณค่าคือวัตถุประสงค์”

          “ความท้าทายมีอยู่มากเช่นเดียวกับทุกวันนี้.. และ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือก็ยังคงเป็นบุคคลสำคัญ ผมได้อธิบายบทบาทของผู้บังคับบัญชาลูกเสือเอาไว้หลายปีมาแล้วในหนังสือเล่มเล็กๆชื่อ อนุเคราะห์แด่การเป็นผู้บังคับบัญชาลูกเสือ - Aids to Scoutmastership

     ผู้บังคับบัญชาลูกเสือนำทางเด็กๆด้วยจิตสำนึกของพี่คนโต
     โดยธรรมดาแล้วเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจของเด็ก เช่น
:-
          (๑) เขาต้องมีจิตใจของเด็กอยู่ในตัวและต้องสามารถวางตัวได้ถูกต้อง โดยมีเด็กๆของเขาเป็นความสำคัญลำดับแรก
          (๒) เขาต้องตระหนักถึงความต้องการ, ทัศนะและความปรารถนาของชีวิตในวัยต่างๆกัน
          (๓) เขาต้องสนใจปฏิบัติต่อเด็กเป็นบุคคล มากกว่าต่อเด็กทั้งกลุ่ม
          (๔) เขาต้องส่งเสริมสำนึกของความร่วมมือระหว่างเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อให้ได้ผลสำเร็จที่ดีที่สุด
ขณะที่ บี-พี กล่าวนั้น ถ่านไฟก็ค่อยๆมอดลง ขณะหนึ่งคุณจ้องมองเข้าไปในเปลวไฟ และครุ่นคิดถึงสิ่งที่ท่านได้กล่าวมา ดูเหมือนว่าเวลาจะได้ล่วงเลยไปแล้วหลายปี แต่เป้าหมายของการลูกเสือก็ยังคงเดิม คุณเงยหน้า ละสายตาขึ้นจากเปลวไฟ บี-พี หายไปแล้ว มันเงียบสงัด เด็กๆหลับกันหมดแล้ว เหล่าดวงดาวส่งประกายระยิบระยับขณะที่คุณเดินตรงไปที่เต็นท์ของคุณ ในใจยังคิดอยู่ตลอดเวลาถึงแขกผู้มาเยือน….. หรือว่า..สิ่งที่ได้พบเห็นจะเป็นเพียงจินตนาการในยามที่คุณจ้องมองเข้าไปในเปลวไฟ



อ้างอิง :  WWW.pinetreeweb.com/ethics.htm

การยุทธกับเผ่าอาชานติ

การยุทธกับเผ่าอาชานติ

บาเดน-เพาเวลล์ได้แนวความคิดหลากหลายกลับบ้านจากการยุทธกับเผ่าอาชานติ แนวความคิดเหล่านั้นหลายอย่างยังคงใช้อยู่ในกิจการลูกเสือทุกวันนี้

แผนที่ประเทศกานาปัจจุบัน

บริเวณชายฝั่งทะเลโกลด์โคสต์ (Gold Coast) ณ ที่ซึ่งปัจจุบันคือประเทศกานา ในแอฟริกาตะวันตก ในอดีตเคยเป็นอาณานิคมของราชอาณาจักรอังกฤษ  บี-พี ถูกส่งไปที่นั่นในปี1895 เพื่อสนับสนุนกองกำลังชาวพื้นเมืองให้เผชิญหน้ากับเผ่าอาชานติ(Ashanti)ผู้ทรงอิทธิพล


ชาวเผ่าอาชานติเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นนักสู้ผู้ห้าวหาญ ด้วยคำขวัญว่า

หากข้าไปข้างหน้าข้าตาย     -     If I go forward I die

                หากข้าถอยหลังข้าตาย        -     If I go backward I die
ไปข้างหน้าแล้วตายดีกว่า     -     Better go forward and die

กองกำลังของบาเดน-เพาเวลล์ประกอบไปด้วยนักรบหลายร้อยคนจากเผ่าโครโบส์(Krobos), เอลิมา(Elima), มัมฟอร์ด(Mumford) และ อาดานสิ(Adansi) พวกเขาต้องออกสอดแนมเส้นทางใหม่ๆผ่านป่าไปในแดนของข้าศึก และ บุกเบิกสร้างถนนสายใหม่ๆ เพื่อให้กองกำลังหลักของอังกฤษสามารถติดตามเข้าโจมตีคูมาสิ(Kumasi) เมืองหลวงของเผ่าอาชานติ


การบุกเบิกในป่า     

การตัดถนนผ่านป่าเข้าไปนั้น หมายถึงการถากถางดงทึบ วางแนวถนน ผ่านที่ลุ่มชื้นปราศจากต้นไม้มักมีน้ำท่วม และ ก่อสร้างสะพานข้ามลำธารและสายน้ำเชี่ยว บี-พีต้องฝึกจนมั่นใจว่ากำลังพลของเขามีความชำนาญในการใช้มีดและขวาน, การบุกเบิก และ การผูกเงื่อนเชือก พวกเขาสร้างสะพานกว่า 200 แห่ง จากไม้โครงผูกแน่นด้วยเถาวัลย์


พวกอาชานติใช้กลองในการส่งสัญญาณไปเป็นระยะทางไกลๆและภาษาที่เข้าใจยากของกลองก็สามารถได้ยินเสียงกัมปนาทผ่านป่าทึบทุกคืน

 หมู่ลูกเสือ

บาเดน-เพาเวลล์ เรียนรู้ประโยคที่ว่า  จับลิงต้องจับเบาเบา -`softly softly catchee monkey'”จากชาวพื้นเมือง และ เรียนรู้ต่อไปอีกว่า กำลังพลของเขาจะปฏิบัติงานได้ผลดีที่สุดเมื่อแบ่งออกเป็นหมู่เล็กๆ และ มอบอำนาจความรับผิดชอบให้กับหัวหน้าของแต่ละหมู่


การสอดแนม งานบุกเบิก และบทเรียนต่างๆที่ได้รับจากการยุทธกับเผ่าอาชานติเหล่านี้นี่เองที่ต่อมา บี-พี ได้นำมาปรับปรุงใช้ในกิจการลูกเสือ





อ้างอิง :
          The African Seeds of Scouting
          http://www.scouting.org.za/seeds/ashanti.html