๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔ เป็นปีที่ลูกเสือไทยมีอายุยืนยาวมาแล้วถึง ๑๐๐ปี กิจกรรมหรือองค์กรใดมีอายุยืนยาวมาถึงขนาดนี้ได้ต้องนับว่ามีความพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงอยู่ยงคงกระพันมาได้ แต่การดำรงอยู่ขององค์กรนั้นๆจะยังคงวัตถุประสงค์ดั้งเดิมเมื่อแรกสถาปนาไว้ได้หรือไม่ ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องพูดถึงกันต่อไป
ก่อนหน้าปี พ.ศ.๒๕๕๔ อันเป็นปีที่ครบรอบนั้น กระทรวงศึกษาธิการเคยดำริจะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยรูปแบบของการจัดงาน จะเป็นการชุมนุมลูกเสือไทย ไม่ว่าจะเป็น ลูกเสือสามัญ ลูกเสือชาวบ้าน ลูกเสือต่างๆ เข้ามาร่วมชุมนุม เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในวาระที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษาด้วย นอกจากนี้ยังวางแผนจะจัดกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย แต่เอาเข้าจริงงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี ลูกเสือไทย กลับดูกร่อยๆไป ไม่คึกคักเท่าที่ควร
นอกจากการเฉลิมฉลองแล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังมีแผนที่จะบูรณาการกระบวนการจัดการเรียนหลักสูตรลูกเสือให้เชื่อมโยงกับการปฏิรูปการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนกิจการของลูกเสือไทยในศตวรรษที่สองให้ไปในทิศทางเดียวกันกับการปฏิรูปการศึกษาอีกด้วย
กระทรวงศึกษาธิการ เคยขอความร่วมมือจากคณะกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภา ต่อยอดและขับเคลื่อนกิจการลูกเสือไทยอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูลูกเสือไทยและเกิดสังคมประชาธิปไตยในสังคมไทยต่อไป โดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมลูกเสือคุณธรรม, ลูกเสือประชาธิปไตย และลูกเสือต้านภัยยาเสพติด ซึ่งองค์กรหลักของกระทรวงฯ ทั้ง ๕ หน่วยงานจะคอยควบคุมกำกับดูแล ด้านนโยบาย, วางแผนพัฒนา และส่งเสริมสถานศึกษาจัดกิจกรรมลูกเสือให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง
ผู้ที่ติดตามข่าวสารเหล่านี้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวงการลูกเสือล้วนตื่นเต้นยินดีที่กิจการลูกเสือจะพลิกโฉมหน้าใหม่สู่ศตวรรษที่ ๒ แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอในวงการการศึกษา ก็คือ การดำริใดๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา หรือ เรื่องการลูกเสือก็ตาม มักจะตื่นเต้นฮือฮากันในระดับเบื้องบน แต่ในระดับผู้สอน ผู้ปฏิบัติ คือครูบาอาจารย์ในโรงเรียน การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงใดๆกลับกลายเป็นภาระ และมักเกิดข้อขัดข้องในทางปฏิบัติที่ทำให้โครงการสวยหรูต่างๆล้มเหลว ไม่บรรลุผลตามที่คาดหวัง
วิชาลูกเสือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เมื่อการลูกเสือถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ในยุคที่พลเอก มานะ รัตนโกเศศ เป็นรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ วิชาลูกเสือก็กลายสภาพเหมือนเป็นวิชาสามัญทั่วไป ที่ครูทุกคนจำเป็นต้องสอน เช่นเดียวกับวิชา วิทยาศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์ ซึ่งเด็กจะต้องเข้าไปนั่งฟังคำบรรยายของครู ในชั่วโมงเรียนที่จำกัด อาจเพียงสัปดาห์ละ ๑ คาบเรียน หรือ ๕๐ นาที ถามว่าจะคาดหวังให้ครูผู้สอนทำอะไรได้มากเพียงไหนในการที่ต้องสอนเนื้อหาสาระ ต้องฝึกปฏิบัติ ต้องอบรมความประพฤติ ฯลฯ ในเวลาที่จำกัดเช่นนั้น แน่นอนที่กระบวนการฝึกอบรมแบบลูกเสือก็ต้องถูกตัดทอนไป ในส่วนของครูผู้สอนเองก็ตาม นอกเหนือจากการทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานศึกษา มีสักกี่คนที่มีความพึงพอใจที่จะสอนลูกเสือ มีสักกี่คนที่มีทักษะ และสามารถเป็นแบบอย่างให้เยาวชนได้เจริญรอยตาม สิ่งต่างๆเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพของเยาวชนในระยะยาว อย่างที่เรานึกไม่ถึง
เรามักได้ยินเสียงบ่นจากผู้ใหญ่อยู่เสมอว่า เด็กทุกวันนี้มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ใจร้อนและก้าวร้าวมากขึ้น ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ขาดสัมมาคารวะ ไม่มีวินัยในตัวเอง ฯลฯ และมักสรุปว่าต้องเอาการลูกเสือเข้ามาแก้ไข วิชาลูกเสือเข้ามาอยู่ในหลักสูตรกว่า ๒๐ ปีแล้วครับ ถ้าคิดว่าเด็กในรุ่นนั้นมีอายุ ๑๕ ปี ปัจจุบันก็น่าจะอายุใกล้ ๔๐ ปีแล้ว สรุปก็คือคนอายุ ๓๘-๓๙ ปีลงมาคือคนที่ต้องเคยเรียนวิชาลูกเสือตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษามาแล้ว นี่คือผลผลิตครับ สังคมไทยที่ผู้คนใจร้อน ก้าวร้าว ไม่รับฟังความเห็นผู้อื่น ฯลฯ ส่วนหนึ่งอาจสืบเนื่องมาจากการนำกระบวนการลูกเสือที่ผิดเพี้ยนเอามาใช้ก็เป็นได้ และถ้ายังไม่ทบทวนเรื่องนี้ให้ดี อีก๑๐๐ปีข้างหน้าปัญหานี้ก็จะยังคงมีอยู่ บุคลิกภาพของคนไทยใน พ.ศ.นั้นจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ยังต้องวิสัชนากันอีกยาวครับ
ลูกเสือไทยกำลังก้าวเดินสู่ทศวรรษที่๒ ในขณะที่ปัจจุบันนี้เรามีเด็กที่เป็นลูกเสือจำนวนมากเกือบจะที่สุดในโลก กระทรวงศึกษาธิการก็กำลังมีโครงการปฏิรูปการศึกษา ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองล้วนเห็นพ้องต้องกันที่จะนำการลูกเสือเข้ามามีส่วนในการพัฒนาเยาวชนของชาติ
ทบทวนกันให้ดี ก่อนจะก้าวเดินกันต่อไปนะครับ ถึงจะมีความตั้งใจดี แต่ถ้ากระบวนการผลิตมันผิดพลาด ผลที่ได้อาจเสียหายใหญ่หลวงก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น